เลี้ยงลูกเชิงบวกวัย 0-6 ปี นาทีทองสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่

470
0
Share:

ปัจจุบันพ่อแม่ยุคใหม่มักต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ส่งผลให้ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่เนื่องจากมีเวลาจำกัด โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัย 0-6 ปี ที่จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลานาทีทองที่จะส่งผลต่ออนาคตของเด็กไปตลอดชีวิต และจากความสำคัญดังกล่าว ทำให้ พรูเด็นเชียล ประเทศไทย พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จับมือกันเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลเด็กในช่วงปฐมวัย เพื่อสร้างรากฐานชีวิตที่ดีให้แก่คนในสังคม ผ่านกิจกรรม “เลี้ยงถูก ลูกดี” ที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ยุคใหม่ได้เติมเต็มความรู้ในการเลี้ยงลูกและได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกันในครอบครัว

 

 

ความสำคัญของ “นาทีทอง” ที่มีต่อพ่อแม่และเด็ก

อ.ดร.นุชนาฏ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงความสำคัญของเด็กในวัย 0-6 ปี ว่า เป็นช่วงเวลาที่สมองพัฒนาสูงสุด โดยเด็กในวัยนี้จะเหมือนกับฟองน้ำที่พร้อมดูดซับความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้จากการอบรมเลี้ยงดู ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและสมอง อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต่อยอดไปถึงทักษะการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ และการเข้าสังคมของเด็ก รวมทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมในอนาคตเมื่อเป็นผู้ใหญ่

เลี้ยงลูกให้ “เก่ง ดี มีสุข” ด้วยการสร้างประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ดี
เป้าหมายสูงสุดของพ่อแม่ทุกคน คือการเห็นภาพลูกเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ สามารถเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น รวมทั้งรู้จักแยกแยะถูกผิด มีคุณธรรม และระเบียบวินัย ในขณะที่มีสุขภาพจิตใจมั่นคงแข็งแรง และมีความสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) พันธุกรรม 2) สุขภาพ โภชนาการ และ 3) ประสบการณ์การเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม แม้พันธุกรรมจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่องค์ประกอบอื่นอย่างอาหารการกินเป็นสิ่งที่พ่อแม่สามารถคัดสรรให้เพียงพอและถูกต้องตามหลักโภชนาการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประสบการณ์การเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดคุณภาพและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับลูกในแต่ละช่วงวัย ซึ่งองค์ประกอบข้อนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของสมอง ซึ่งถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะส่งผลต่อเด็กในด้านอื่นๆ

 

5 หลักการดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ (Nurturing Care Framework)
Nurturing Care Framework (NCF) เป็นหลักการดูแลเอาใจใส่เด็กทั้ง 5 ด้าน ที่องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟได้จัดการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อวางกรอบการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยให้สามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย
1. สุขภาพที่ดี หมายถึงสุขภาพที่ดีทั้งของเด็กและของผู้ดูแล ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น การตรวจสุขภาพเด็กเป็นประจำ การฉีดวัคซีน และการส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อเป็นการออกกำลังกาย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย จะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง พร้อมเรียนรู้และใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่

2. โภชนาการที่เพียงพอ ทั้งร่างกายและสมองต่างต้องการสารอาหารที่ครบถ้วนและพอเหมาะ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการเติบโต หากเด็กได้รับสารอาหารน้อยหรือมากเกินไป อาจมีภาวะทุพโภชนาการได้ เช่น โรคขาดสารอาหาร หรือ โรคอ้วน ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในระยะยาว รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ

3. คุ้มครองให้ความปลอดภัยและมั่นคง หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและครอบครัว เพราะเด็กเล็กไม่สามารถป้องกันตนเองได้และมีความเปราะบางต่ออันตรายต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย เพราะการปกป้องให้ลูกรู้สึกปลอดภัยเพียงพอ รับรู้ถึงความรัก ความผูกพันมั่นคง เน้นการให้กำลังใจ จะสร้างความพร้อมให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีในอนาคต

4. ให้โอกาสในการเรียนรู้ ในขวบปีแรกๆ เด็กจะเรียนรู้และได้รับทักษะและความสามารถจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านรอยยิ้ม การสบตา การพูดคุย ร้องเพลง การเลียนแบบ และการละเล่นง่ายๆ เช่น โบกมือบ้ายบายหรือจ๊ะเอ๋ เมื่อเด็กโตขึ้น ควรมีกิจกรรมและการเล่นกับลูก อย่างการอ่านนิทาน การปั้นดินน้ำมัน หรือการวิ่งเล่น ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ กระตุ้นพัฒนาการ และจุดประกายความใคร่รู้ รวมทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น

5. มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก การที่พ่อแม่คอยตอบสนองลูกอย่างเอาใจใส่ และรับฟังความต้องการของลูกอย่างใกล้ชิด เปรียบเสมือนการวางรากฐานชีวิตที่มั่นคงแข็งแรงให้กับลูก ทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ตามวัยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหนคือ ความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจที่จะหลอมรวมกันจนกลายเป็นตัวตนของเด็ก และติดตัวจนโตเป็นผู้ใหญ่ไปตลอดชีวิต

Share: