“เครียดลงกระเพาะ” โรคฮิตที่อย่ามองข้ามความเครียด คือ จุดเริ่มต้นของโรคร้าย

554
0
Share:

อาการปวดท้อง เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่โรคกระเพาะ และไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา (ไม่มีแผลที่กระเพาะอาหาร) แต่เป็นการสั่งการของสมอง อาการแบบนี้เรียกว่า “เครียดลงกระเพาะ” ยิ่งเครียดก็ยิ่งกระตุ้นให้กระเพาะอาหารเกิดการบิดตัว และหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ ทำให้เมือกในกระเพาะอาหารเสียสมดุลและเกิดการระคายเคืองในช่องท้องได้ จึงเห็นได้ชัดว่าความเครียด ไม่ได้ส่งผลร้ายต่อจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายของเราได้เลยทีเดียว

 

 

ดังนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองเครียดมากเกินไป ควรหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ผ่อนคลายตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง วาดรูป ปลูกต้นไม้ นั่งสมาธิ ทำอาหาร หรือหางานอดิเรกที่ตัวเองชื่นชอบ เพื่อช่วยลดความเครียด และการวิตกกังวล

6 วิธีเด็ดขจัดความเครียด
แก้ไขที่สาเหตุของความเครียด เราต้องหาสาเหตุว่ามาจากเรื่องอะไร คนส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ตัวเองเครียดอยู่อย่างนั้น จนไม่ได้แก้ไขและกลายเป็นโรคเรื้อรังในที่สุด เหมือน “โรคเครียดลงกระเพาะ” ดังนั้น ในการพิชิตความเครียดตามแบบฉบับของนักจิตวิทยา มี 6 วิธีง่ายๆ คือ

1. สังเกตตนเอง
เรากำลังโมโห เหวี่ยงวีน เกรี้ยวกราด หัวร้อนกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่หรือไม่ หรือมีอาการรับประทานข้าวได้น้อยลง ขับถ่ายยาก นอนไม่หลับ ฯลฯ อยู่หรือไม่ เพราะอาการที่ร่างกายแสดงออกเหล่านี้ เป็นสัญญาณบอกเราว่า เรากำลัง “มีความเครียด” หากเราสังเกตและสำรวจได้เร็ว เราก็สามารถผ่อนคลายและรับมือกับความเครียดของเราได้เร็ว รู้จักสงบลงได้เร็วขึ้น ปล่อยปลดความเครียดออกไปได้เร็วขึ้น

2. ผ่อนคลายจิตใจ
การผ่อนคลายจิตใจมีหลากหลายวิธี วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำ และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ควบคุมลมหายใจ “สูดลมหายใจเข้า ปล่อยลมหายใจออกยาวๆ” ถ้าเราหายใจช้าลง และลึกขึ้น ร่างกายของเราก็จะได้รับออกซิเจนแบบมีคุณภาพ ทำให้ใจเย็นลง สมองปลอดโปร่ง มีสติในการคิดแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น และความเครียดก็จะสามารถลดลงได้ตามลำดับ

3. หากิจกรรมที่ชื่นชอบ มีความสุข
เราควรไปทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่น มีความสุข สนุกสนาน เช่น ไปช็อปปิ้ง ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ที่เราอยากไป ทะเล ภูเขา หรือ ไปดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย นั่งชิวๆ ในคาเฟ่ ทานอาหารในร้านที่บรรยากาศดีๆ อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลาย การหาเวลาให้ตัวเองได้ทำกิจกรรมที่ชอบเหล่านี้ เพื่อลดความเครียดที่เกิดขึ้นได้

4. หาสาเหตุ และหาหนทางแก้ไข
เราต้องหาสาเหตุของความเครียดว่ามาจากไหน เกิดเพราะอะไร เช่น จากงาน จากหัวหน้างาน จากเพื่อนร่วมงาน ลองปรึกษาหารือกับผู้บริหารองค์กร ในการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้าย ก็ช่วยผ่อนคลายความเครียด เพื่อหาหนทางการแก้ไขความเครียดที่สะสมออกไป หรือความเครียดเกิดจากครอบครัว คู่ครอง ก็อาจจะลองจับมือกันไปหานักจิตวิทยา เพื่อทำจิตบำบัดครอบครัว คู่ครอง ในการหาทางออกร่วมกัน เป็นต้น

5. ระบายกับเพื่อนสนิท คนที่เราไว้ใจ
หากเรามีเพื่อนสนิทที่เข้าใจเรา ก็เปิดใจเล่าให้คนที่สนิทใจฟังได้ เพื่อผ่อนคลายเรื่องราวที่ทำให้เราเครียด แม้ว่าผู้ที่รับฟังจะไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ในขณะนั้น แต่การแบ่งปันเรื่องราวให้คนที่ไว้ใจฟัง และมีคนรับฟังอย่างตั้งใจ ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนเข้าใจ มีคนที่เกิดความรู้สึกร่วมไปกับเรา แต่ในกรณีที่มีความทุกข์ใจแต่ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง ก็สามารถเล่าให้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาฟังได้

6. ขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์
วิธีแก้ไขที่ดี คือ การรักษา ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่ง รพ. BMHH มีจิตแพทย์เฉพาะทางและนักจิตวิทยาที่พร้อมให้บริการอยู่เสมอ

ลองเช็กอาการเหล่านี้ว่าเราเป็น โรคเครียดลงกระเพาะหรือไม่
• ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ตอนท้องว่าง
• เสียดหน้าอก อาหารไม่ย่อย
• รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
• แน่นท้อง ท้องอืด เรอเหม็นเปรี้ยว
• นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท

วิธีป้องกันโรคเครียดลงกระเพาะ
• ต้องไม่เครียด
• ทานอาหารให้ตรงเวลา และครบทั้ง 3 มื้อ ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อต้องไม่มากเกินไป
• ไม่ทานอาหารรสจัด
• เลี่ยงของมัน ของทอด อาหารที่ย่อยง่ายๆ เช่น เนื้อปลา
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
• งดแอลกอฮอล์

วิธีป้องกัน โรคเครียดลงกระเพาะที่ดีที่สุด คือ การเอาตัวเองออกมาให้พ้นจากความเครียดให้ได้มากที่สุด ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อจะไม่เสี่ยงกับโรคเครียดลงกระเพาะ

พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์
โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

Share: