‘อ้วน’ ปัญหาเชิงมหภาค! แนะภาครัฐต้อง ‘จัดการตรงจุด’ แบ่งกลุ่มรักษา ย้ำ ‘ประชาชน’ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาพดี
คนที่เป็นโรคอ้วนรุนแรง วัดได้จากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 35 ขึ้นไป มีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉลี่ย 5-20 ปี ส่วนใหญ่มักจะมีโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน และโรคไขมันในเลือดสูง อีกทั้งยังมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคไต ที่ต้องใช้วงเงินในการรักษาพยาบาล ตั้งแต่ 134,000 – 421,000 บาทต่อคนต่อปี
รศ. นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) กล่าวว่าด้วยปัญหาโรคอ้วนที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน และโรคอ้วนยังเป็นบ่อเกิดที่สร้างภาระทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย คิดเป็น 4.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือประมาณ 8.52 แสนล้านบาท ซึ่งก็คือค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน ยังไม่นับรวมกับทุกวันนี้ที่ผู้คนต้องเผชิญกับปัญหา Climate Change และฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจะยิ่งทำให้กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้รับผลกระทบและอาจมีอาการทรุดหนักมากยิ่งขึ้น
สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงเป็นที่มาของการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2567 หัวข้อ Stop Obesity, Preventing NCDs: The Move to New Ecosystem เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และหาแนวทางร่วมกันในการป้องกันและควบคุมโรคอ้วนและโรค NCDs ซึ่งได้รวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมและมุ่งผลักดันเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะช่วงเสวนา ‘Bridging the gap for holistic obesity care in Thailand’ ที่บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุน ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, นพ.ศุภฤกษ์ สื่อรุ่งเรือง ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการและสุขภาวะ กรมอนามัย, รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และคุณรชตะ อุ่นสุข ผู้อำนวยการควบคุมงานกฎหมาย กรมบัญชีกลาง ที่ร่วมอภิปรายไขปัญหาและหาแนวทางออกให้กับประเทศได้อย่างน่าสนใจ
นพ.ศุภฤกษ์ สื่อรุ่งเรือง ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการและสุขภาวะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดประเด็นจากผลสำรวจการรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย (Health Literacy) ในปี 2566 จากกลุ่มคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพน้อยที่สุด ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มักจะมองว่า ‘ความอ้วน’ เป็นเพียงแค่รูปร่างหน้าตา ความสวยงาม หรือรูปลักษณ์ภายนอก มากกว่าที่จะมองว่าและเข้าใจว่า ‘ความอ้วน’ คือ ‘โรค’ และส่งผลต่อสุขภาพของตัวเองในระยะยาว ขณะที่บางรายอาจเริ่มกังวลถึงเรื่องสุขภาพเมื่อมีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจและจำเป็นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ กรมควบคุมโรคได้สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคอ้วนให้กับคนไข้ NCDs Clinic และประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย โดยได้มีการรณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่า ‘ความอ้วน’ คือโรคภัย ก่อให้เกิดความเสี่ยงและนำมาสู่โรคร่วมและโรคแทรกซ้อนอีกหลายโรค ซึ่งมี อสม. หลายแห่งที่มีการพัฒนาสู่รูปแบบในการลดน้ำหนักที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่า อสม. จะเป็นอีกพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขของประเทศในระดับชุมชนท้องถิ่น
ปัจจุบัน กลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขมีการรับรู้เรื่องโรคอ้วนมากขึ้น โดยใช้ตัว BMI เป็นตัวชี้วัด ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่พูดถึง ‘ความอ้วนกับภาวะอินซูลิน’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่อยากให้สร้างความตระหนักรู้เพิ่มมากขึ้น คือ ความอ้วนกับอันตรายต่างๆ ที่จะตามมา เช่น ความอ้วนที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง โดยต้องการให้มีการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ส่วนกรมควบคุมโรคเองก็ได้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อน ดูแลผู้ป่วยในกลุ่มทำงานจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ เน้นบูรณาการแบบองค์รวมเพื่อให้เกิด impact มากขึ้นเช่นกัน
ด้านของ รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล มองไว้ 2 ประเด็นหลักๆ ในการดูแลโรคอ้วน คือ
1. การรับรู้ในเชิงทางคลินิก (clinical) มีการรับรู้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าโรคอ้วนเป็นสาเหตุก่อให้มีโรคร่วม ทั้งเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดัน ซึ่งสัมพันธ์กับความอ้วน และก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะปอดทำงานผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งคนไข้ต้องปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงนั้นๆ ควบคู่กับการใช้ยา โดยแพทย์จะรักษาควบคู่กันไป แต่ก็พบปัญหายุ่งยากเพื่อให้คนไข้ลดน้ำหนักเนื่องจากต้องอาศัยสหสาขาวิชาชีพอย่างน้อย 5 สาขาหลักๆ ที่มีส่วนร่วมในการรักษา อาทิ นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด หมอกระดูก หมอหัวใจ หมอโรคปอดและทางเดินหายใจ เป็นต้น โดยต้องประสานและบริหารจัดการในการทำงานร่วมกันเป็นทีม
2. การจัดสรรงบประมาณ (Budget Allocation) มองว่าการรักษาโรคในกลุ่มเมทาบอลิก (Metabolic Syndrome) จะมียอดค่าใช้จ่ายสูง และค่ายาจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และมักพบปัญหาในการเบิกค่าใช้จ่ายไม่ได้หรือต้องสำรองจ่ายเอง ซึ่งอาจอยู่ในระบบสุขภาพที่ไม่ได้ครอบคลุมหรือเบิกได้ไม่เต็มจำนวน ก็จะกลายเป็นปัญหา เนื่องจากค่าใช้จ่ายเฉพาะค่ายาในกลุ่มโรคดังกล่าวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ดังนั้นรัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการกับปัญหาโรคอ้วน
ขณะที่การลดน้ำหนักจะได้ประโยชน์ในหลายมิติ เช่น หากลดน้ำหนักได้ 5-10% ขึ้นไป จะทำให้รูปลักษณ์ตนเองดูดีขึ้น แต่ถ้าลดน้ำหนักได้ในอีกระดับหนึ่ง ก็จะควบคุมเบาหวาน ไขมัน ความดันได้ดีขึ้น สำหรับทางทฤษฎีแล้ว หากลดน้ำหนักได้ก็จะสามารถควบคุมโรคร่วมได้ดีมากขึ้น รวมถึงแนวทางการรักษาก็จะง่ายขึ้น ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งตัวคนไข้เองก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อย่างมาก
ปิดท้ายด้วยคุณรชตะ อุ่นสุข ผู้อำนวยการควบคุมงานกฎหมาย กรมบัญชีกลาง ชูประเด็นที่น่าสนใจว่า ถ้าจะพูดถึงวิธีการที่จะลดผู้ป่วยโรคอ้วนและผู้ป่วยกลุ่ม NCDs มองว่านโยบายเชิงสุขภาพไม่สามารถตอบโจทย์การควบคุมโรคอ้วนได้ทั้งหมด เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เพราะฉะนั้น ‘นโยบายด้านสุขภาพ’ หรือ Health Policy ไม่สามารถอยู่ภายใต้กระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เพียงลำพัง ถ้าอยากให้คนในประเทศมีสุขภาพดี จะต้องทำในเชิงมหภาคเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งผมมองว่า key success ไม่ได้อยู่เพียงแค่กระบวนการรักษาโรคเท่านั้น
อีกกรณี หากมีการนำนวัตกรรมที่ทำให้สามารถแก้ปัญหากับปัญหาโรคอ้วนได้ทันที อย่างเช่น นวัตกรรมยาใหม่ๆ สิ่งสำคัญคือการตัดสินใจในเชิงนโยบายว่าจะใช้วิธีคิดนี้เป็น first priority ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือเป็น second priority ในทุกช่วงถัดๆ ไป แต่วิธีคิดควรจะต้องสร้างรากฐานในวิธีการบริหารจัดการให้เหมาะสม ซึ่งต้องยอมรับว่าจะมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่ภาครัฐจะต้องคิดว่าจะดูแลคนกลุ่มนี้ในมิติใด ที่สำคัญการทำงานจะต้อง Give and Take คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน รวมถึงภาคประชาชนด้วย ในทางกลับกันหากคนไข้รอรับอย่างเดียวและคิดว่าจะต้องเป็นผู้รับเท่านั้น เพราะเสียภาษีให้รัฐแล้ว ก็จะไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ดูแลสุขภาพ โดยประชาชนที่มีสุขภาพดีจึงควรจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐควรมีนโยบายหรือกลไกเพื่อกระตุ้นให้คนไทยอยากมีสุขภาพดี
รศ.นพ.ดิลก กล่าวสรุปทิ้งท้ายจากการอภิปรายร่วมกันว่าภาครัฐควรแก้ปัญหาให้ตรงกุล่ม แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ
1. กลุ่มที่มีสุขภาพดี มีเงินคืน
2. กลุ่มที่มีภาวะโรคที่สามารถจะช่วยตัวเองได้ ให้ความรู้และแนวทางการปฏิบัติ
3. กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ก็ต้องให้มีการเข้าถึงการรักษาและเข้าถึงยาให้ได้
หากภาครัฐใช้แนวทางนี้ ก็จะเกิดความยุติธรรมและเกิดความสมดุลอย่างเท่าเทียม ยกตัวอย่าง การกำหนดใช้ค่า BMI ที่สูงเพื่อเป็นตัวชี้วัดสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วน เช่น BMI ตั้งแต่ 37.5 กิโลกรัม/ตารางเมตร, BMI ตั้งแต่ 32.5 กิโลกรัม/ตารางเมตร + มีโรคร่วมอย่างน้อย 1 โรค ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ถือเป็นตัวสะท้อนที่ดี ในส่วนนี้จะทำให้ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถเข้าถึงการรักษาได้และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้ แต่จำเป็นต้องกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจนและเคร่งครัด รวมถึงต้องคำนึงถึงวิธีการรักษาใหม่ๆ โดยใช้หลักเกณฑ์ในการเข้าถึงยา การรักษาอื่นๆ ด้วยเกณฑ์ที่มีการคัดสรรมาอย่างดี และหากทำได้ครบทุกมิติ ทั้งในกลุ่มที่มีสุขภาพดี (Healthy), กลุ่มที่มีภาวะโรคที่สามารถจะช่วยตัวเองได้ (Low Risk) และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk) ประเทศไทยก็จะใช้ทรัพยากรได้อย่างพอดีและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด