สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ถอดบทเรียนการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น

768
0
Share:

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมาตั้งแต่อดีตสมัยเริ่มยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีปัญหามลพิษจากกากของเสียและสารอันตรายจากอุตสาหกรรมมาก จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ปัญหาและการจัดการปัญหาในอดีต เช่น กรณี โรคมินามาตะจากการปนเปื้อนสารปรอท โรคอิไตอิไตจากการปนเปื้อนสารแคดเมียม เป็นต้น หลังจากนั้นประเด็นสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของประเทศญี่ปุ่นที่ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กับ หรือการพัฒนาระบบบริหารจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอย่างในอดีต จนกลายเป็นประเทศชั้นนำในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมและสารพิษต่างๆ

 

 

ประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่นที่ได้ดำเนินการจัดการแยกหน่วยงานที่กำกับ อนุมัติ อนุญาต กิจการโรงงานอุตสาหกรรม กับการดูแลสิ่งแวดล้อมออกจากกัน โดยโรงงานอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอนุมัติ อนุญาต ส่วนปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม การจัดการ การกำกับดูแล อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ

ญี่ปุ่นมีการจัดการกากของเสียและสารพิษมีระบบที่ชัดเจน ทั้งประเภทของกากของเสียหรือสารพิษต่างๆที่เกิดขึ้น การอนุมัติ การอนุญาต การเคลื่อนย้ายและขนส่ง ระบบการระบบติดตามและรายงาน การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ตลอดจนความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูง การบำบัดและกำจัดที่ครบวงจร เปิดเผยและตรวจสอบได้

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสีย ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล อีกทั้งการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังถือเป็นภารกิจสำคัญ ครั้งล่าสุดได้มีโอกาสไปดูงานและหารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนแม่บทการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมและการนำการวิจัยและเปลี่ยนนัดวิจัยด้านการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม กับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสีย (Hub of Talents on Waste Management) ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้การดำเนินการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย

ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI เล่าถึงการตรวจเยี่ยม Tokyo Water Front Eco Clean มีโรงงานกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม โรงงานกำจัดขยะติดเชื้อ และโรงงานจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีหลักการนำของเสียที่ใช้ประโยชน์ได้ให้มากที่สุด ที่เหลือไปจัดการตามคุณสมบัติของของเสีย โดยระบบการเผาที่มีประสิทธิภาพสูง ที่ใช้ระบบปิดและระบบบำบัดมลพิษ ที่ระดับอุณหภูมิสูงพอที่จะไม่ให้เกิดสารพิษประเภทสารก่อมะเร็ง เช่น ไดออกซิน และฟิวแรน เมื่อมีกากของเสียเกิดขึ้นสุดท้ายก็จะมีการทดสอบและนำไปใช้ประโยชน์หรือถมพื้นที่ทะเล และการหารือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม ในประเด็นต่างๆ เช่น การช่วยประเทศไทยในการจัดทำแผนแม่บทการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย การยกระดับการควบคุมการอนุญาตนำเข้า/ส่งออกของเสียอันตรายระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ตามอนุสัญญาบาเชล (Basel Convention) และ แนวทางการออกกฎหมาย จัดการซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ในส่วนของประเทศไทยแม้จะมีกฎหมายที่เข้มงวดและชัดเจนในหลายประเด็น ทั้งกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม กฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เป็นต้น ที่ได้กำหนดชนิดและขนาดโรงงาน การควบคุมการปล่อยของเสียหรือมลพิษ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ควบคุมดูแล ผู้ปฏิบัติงานประจำ และการกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ควบคุมดูแลระบบจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการขนส่ง เคลื่อนย้าย การจัดการต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่ในช่วงหลังๆ จะมีปัญหาการจัดการกากของเสียและสารอันตรายในพื้นที่ต่างๆ เกิดขึ้นถี่และก่อให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก กรณีการลอบวางแพลิง กรณีโรงการไฟไหม้ สารอัตรายรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นก็จะเพิ่มตามไปด้วย ในขณะที่ระบบการจัดการกากของเสียมีอยู่จำกัดประกอบกับระบบการอนุมัติ อนุญาต การติดตาม ประเมินผลการดำเนินการยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แม้กระทั้งการรายงานชนิดและปริมาณกากของเสียจากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ทำให้กากของเสียทีมีเอกชนรับบำบัดกำจัดถูกทิ้งในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่เอกชน รวมทั้งในสถานประกอบการที่ไม่มีระบบจัดการที่ดี จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และหากการเกิดเพลิงไหม้ ความสูญเสียและผลกระทบก็สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะสารไวไฟและสารพิษต่างๆ ประกอบกับในช่วงอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้น

โรงงานอุตสาหกรรมประเภท 101 ประเภท 105 และ ประเภท 106 ที่เกี่ยวกับการรีไชเคิล การรับจัดการของเสีย แม้ที่ผ่านมาจะมีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆไปบ้าง เพื่อส่งเสริมให้มีโรงงานจำนวนมากทันต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นจะต้องมีการทบทวน วางกฎเกณฑ์ ระบบตรวจสอบและควบคุมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ นี่เป็นจังหวะและโอกาสที่ประเทศไทยจะต้องทบทวนการดำเนินการเพื่อให้เกิดความสมดุลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการยอมรับและลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ดร. วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียงโดย : ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

Share: