ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย ชวนคนไทยเดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน สร้างการรับรู้โรคอ้วนป้องกันและรักษาได้ หวังช่วยลดปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ

272
0
Share:

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘โรคอ้วน’ เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพระดับโลกและประเทศไทยก็เช่นกัน โดยแนวโน้มได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่า ในปีพ.ศ. 2559 ความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในผู้ใหญ่เท่ากับ 39% หรือมากกว่า 1.9 พันล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมากกว่า 1 ใน 3 และคนไทยยังมีภาวะโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย จากประเทศอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน ที่สำคัญโรคอ้วนยังเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคหัวใจ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ ฯลฯ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

 

 

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์โรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “ในฐานะที่ ‘ศูนย์รักษ์พุง’ หรือคลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีภารกิจหลักในการให้บริการบำบัดรักษาและป้องกันโรคอ้วนแบบครบวงจร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลป้องกันโรคอ้วน ควบคู่ไปกับการรักษาโรคอ้วนอย่างถูกวิธี จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน หรือ 100KG Obesity Run 2024 ณ ลานจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ โดยมีบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สนับสนุนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยออกกำลังกาย ป้องกันโรคอ้วน และสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายให้แก่ประชาชนทั่วไป จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายเป็นประจำเป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้ถึง 30-50% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายอีกด้วย”

ดังนั้น วิธีป้องกันโรคอ้วนที่ได้ผลคุ้มค่ามากที่สุดคือ การเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงมีสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ การรับประทานอาหารที่หลากหลาย ให้คุณค่าทางอาหารสูง แต่ให้พลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งการวิ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่งในการรักษาภาวะน้ำหนักเกิน ช่วยลดปริมาณไขมันที่สะสมในช่องท้องและใต้ผิวหนัง อีกทั้งยังช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่มากับโรคอ้วนได้อีกด้วย

จากข้อมูลสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีพ.ศ. 2560 รายงานว่าการวิ่งเหยาะๆ หรือ เดินเร็ว เป็นการเผาผลาญไขมันได้ดีที่สุด แต่ที่สำคัญจะต้องวิ่งหรือเดินเร็วให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก เนื่องจากการวิ่งเหยาะๆ หรือการเดินเร็วเป็นการใช้ความหนักในการออกกำลังกายไม่มาก (low intensity) ทำให้ได้ระยะทางไกลกว่าการวิ่งเร็ว และยังเผาผลาญไขมันได้มากกว่าแป้ง เพราะไขมันจะถูกเผาพลาญก็ต่อเมื่อวิ่งต่อเนื่องนานถึง 30 นาที ขณะที่การวิ่งเร็วๆ แต่ไม่ถึง 30 นาที แล้วต้องหยุด จึงลดไขมันไม่ได้

กิจกรรม ‘เดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน หรือ 100KG Obesity Run 2024’ ในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ซึ่งศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและสถานการณ์โรคอ้วนในปัจจุบัน โดยสร้างการรวมตัวสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัว มากกว่า 100 กิโลกรัมได้เข้าร่วมกิจกรรม เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวไม่ถึง 100 กิโลกรัมก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้เช่นกันแต่หากจะต้องลงทะเบียนแบบกลุ่มและจะต้องมีน้ำหนักรวมกันมากกว่าหรือเท่ากับ 100 กิโลกรัม โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องเดิน-วิ่งเป็นระยะทางอย่างน้อย 2 กิโลเมตร ภายในงานยังมีเวทีแบ่งปันความรู้เรื่องโรคอ้วนและนิทรรศการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ตลอดกิจกรรมยังอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด

ที่ผ่านมา บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) เป็นบริษัทฯ นวัตกรรมเวชภัณฑ์ชั้นนำที่มุ่งมั่นในการคิดค้นนวัตกรรมการรักษาโรคอ้วนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักดีว่าโรคอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรและภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน ในครั้งนี้ด้วย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคอ้วน และส่งเสริมให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคอ้วน

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25 กก./ตร.ม. และผู้ป่วยโรคอ้วน มีค่า BMI มากกว่า 30 กก./ตร.ม. สามารถรักษาได้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์ อีกทั้งการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่หลายหลายมากขึ้นในปัจจุบัน หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันเรามีนวัตกรรมยามากขึ้นสำหรับการรักษาโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยและได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เช่น ยาในกลุ่ม GLP-1 analogues ในรูปแบบปากกาฉีดที่สามารถใช้ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนได้ ขณะที่ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 32.5 กก./ตร.ม. และมีโรคร่วมที่เป็นภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI มากกว่า 37.5 กก./ตร.ม. แพทย์อาจต้องพิจารณาการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ได้แก่ 1. การผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร และ 2. การผ่าตัดบายพาส โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงภาวะโรคอ้วนและโรคต่างๆ ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ”

ผู้สนใจติดตามข่าวสารศูนย์รักษ์พุง ได้ที่ https://www.facebook.com/ChulaBMI?mibextid=ZbWKwL หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 256 4000 ต่อ 71205 ทุกวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 8.30 – 15.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)

Share: