พก. เร่งขับเคลื่อนนโยบายการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด ลงพื้นที่เยี่ยมและให้กำลังใจคนพิการที่ทำงานในสถานประกอบการ

27
0
Share:

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ สนับสนุนให้คนพิการมีงานทำมากขึ้น โดยลงพื้นที่เยี่ยมคนพิการที่ทำงานในสถานประกอบการของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดน้อยลงในทางตรงกันข้ามเรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นจำนวนคนที่อยู่ในวัยแรงงานจะน้อยลง การที่จะส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการที่มีศักยภาพและมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่าคนปกตินั้นเป็นเป้าหมายของกระทรวง พม. พก. ที่ขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งดำเนินการจ้างงานคนพิการให้ครบถ้วนตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด

 

 

นางณฐอร อินทร์ดีศรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กล่าวว่า กระทรวง พม. โดย พก. มีแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้สิทธิด้านอาชีพคนพิการ และสามารถเข้าถึงสิทธิได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 โดยกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงาน ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ใช่คนพิการทุก 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน เศษเกิน 50 คน ขึ้นไป จ้างเพิ่มอีก 1 คน ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงาน และได้มีแผนกา.รขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ โดยได้ขอความร่วมมือหน่วยงานของรัฐและนายจ้างฯ ปฏิบัติตามกฎหมายและรายงานผลการจ้างงานคนพิการ

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ให้คนพิการมีงานทำมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ เพิ่มโอกาสให้คนพิการเข้าถึงการสร้างอาชีพ ลดภาระในสังคม สร้างอาชีพที่ยั่งยืนสู่คนพิการ ในการพัฒนาศักยภาพ และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนพิการ รวมถึงการสร้างสังคมที่บูรณาการเพื่อคนพิการและผู้ดูแลคนพิการให้สามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและการไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ตลอดจนการสร้างเสริมเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อความพิการและคนพิการให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมในสังคม

ทั้งนี้ จากข้อมูลการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวนสถานประกอบการ ที่ต้องจ้างงานคนพิการ 14,814 แห่ง ต้องมีการจ้างงานคนพิการตามกฎหมายการจ้างงานจำนวน 69,271 คน แต่ขณะนี้มีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 จำนวน 39,793 คน จัดให้สัมปทานฯ ตามมาตรา 35 จำนวน 16,526 คน และส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 จำนวน 11,058 คน รวมมีการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการแล้วคิดเป็นร้อยละ 97 ซึ่งต้องมีการจ้างงานคนพิการเพิ่มอีกร้อยละ 3

สำหรับสถานการณ์งานด้านคนพิการในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากที่จะต้องใส่ใจ เพราะการที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้ความเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ทบทวน และปรับตัวพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เช่นในวันนี้ พก. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมการทำงานของ นางสาวสุกัญญา บุตรโคตร พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ โดนตัดฝ่าเท้า ใส่เท้าเทียม ปัจจุบันทำงานที่ร้านเชสเตอร์ ฟู้ดส์ สาขาสยามสแควร์ ธุรกิจในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมอาหารและรับออเดอร์อาหารให้กับลูกค้า ซึ่งการทำงานในสถานประกอบการเป็นการช่วยสนับสนุนให้โอกาสคนพิการได้ทำงานหาเลี้ยงชีพตนเอง และที่สำคัญทำให้เกิดภาคภูมิใจในตนเอง มีกำลังใจในการทำงาน สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม เห็นคุณค่าของคนพิการในสังคมมากขึ้น

กระทรวง พม. โดย พก. จึงตระหนักว่า การกำหนดทิศทางการทำงานด้านคนพิการ จำเป็นต้องพิจารณาบริบทสถานการณ์ ควบคู่กับการประเมินเงื่อนไขของปัจจัยต่างๆ หรือสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกทิศทางและแนวทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการบูรณาการความร่วมมือการส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ ทุกด้าน ทุกระดับ ผ่านเครื่องมือการขับเคลื่อนงานในรูปแบบ นโยบาย กฎหมาย และเครือข่ายทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปพร้อมกัน เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างกระทรวง พม. โดย พก. กับคนพิการและประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมได้เห็นถึงความสามารถของคนพิการ สร้างความรู้ความเข้าใจ และการปรับภาพลักษณ์ด้านความคิดของสังคมที่มีต่อคนพิการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการตั้งเป้าหมายให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการถูกต้องและครบถ้วนทุกแห่ง

Share: