Thailand Net Zero Commitment เพื่อการปรับตัวของธุรกิจไทย สู่ความยั่งยืน
ปัจจุบันผู้ประกอบการจะสนใจแต่การทำกำไรและทำการตลาดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย โดยโฟกัสไปที่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งในวันนี้ได้อัปเกรดความรุนแรงจาก “ภาวะโลกรวน” ไปเป็น “ภาวะโลกเดือด” เรียบร้อยแล้ว
finbiz by ttb จึงหยิบยกประเด็นสำคัญจากการจัดงานสัมมนา Sustainable Growth – The Way to Business of the Future ซึ่งได้เชิญ คุณธาดา วรุณโชติกุล ผู้จัดการ สำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO มาให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบาย Net Zero ของประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อก้าวเดินสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนอย่างมั่นใจ
นโยบายและเป้าหมายต่อสู้กับ Climate Change
เทรนด์โลกที่ผ่านมาเราได้เห็นประเทศต่างๆ จริงจังกับการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนให้ลดลง โดยมี 97 ประเทศที่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ตามปีเป้าหมายที่กำหนด เช่น เป้าหมายของสหรัฐอเมริกาคือปี 2050 ส่วน Net Zero ของจีนคือปี 2060 ส่วนประเทศไทย นอกจากจะตั้งใจบรรลุ Net Zero ในปี 2065 เราก็ยังต้องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 แต่เป้าหมายที่ใกล้กว่านั้น คือปี 2530 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 30-40%
สถานการณ์ปัจจุบันของไทย
• ปี 2023 นี้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 350-360 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คือ หน่วยที่ใช้ชี้วัดก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดว่าเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณเท่าไหร่ เพราะก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด) และหากปล่อยโดยที่ไม่มีการควบคุมไปจนถึงปี 2025 คาดว่าเราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดคือ 380 กว่าล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หลังจากนั้นก๊าซเรือนกระจกจะต้องถูกควบคุมให้ลดลงมาเรื่อยๆ
• ในระดับประเทศ ภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ ภาคพลังงาน ขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคการจัดการของเสีย โดยคาดว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเต็มที่ไม่เกิน 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนภาคการดูดกลับหรือภาคป่าไม้ เราดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
• โจทย์คือทำอย่างไรให้ “ปล่อย” น้อยลง และ “ดูดกลับ” เพิ่มขึ้น ภาครัฐได้ออกนโยบายและประกาศใช้มาตรการสำคัญต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง เช่น เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 68% ในปี 2040 และ 74% ในปี 2050 รวมทั้งสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ได้ 69% ในปี 2035 เป็นต้น
• ภาคเอกชนมีการตื่นตัว นำนโยบายของภาครัฐไปตั้งเป็นเป้าหมาย Net Zero ให้กับธุรกิจของตน ทั้งยังนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ เช่น เทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture Utilization Storage) เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อขยับตัวเลขการดูดกลับจาก 80 เป็น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
• คาดการณ์ว่าปี 2065 ก๊าซเรือนกระจกจะถูกลดปริมาณลงเหลือต่ำกว่า 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และถูกดูดกลับ 120 ล้านตันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
ผู้ประกอบการสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองนโยบายดังกล่าวของภาครัฐได้ โดยช่วยกันประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกแบบ Bottom-up ขึ้นไป เพื่อช่วยชาติบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และยังสามารถขยายผลนำไปสู่การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรของเราได้
สรุป 6 แนวทางขับเคลื่อนภายในประเทศ
1. ด้านนโยบาย
มีการบูรณาการและกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เข้าสู่แผนระดับประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อน BCG Model โดยมองเรื่อง Bio-Economy เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม, Circular Economy ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสีย และ Green Economy เน้นดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมภาคการเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก ชาวนาต้องปรับตัวมาทำนาวิถีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ข้อนี้สำคัญมากเพราะข้าวของไทยมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าข้าวของญี่ปุ่นถึง 4 เท่า หากมีการคิดภาษีคาร์บอนในสินค้าการเกษตร จะทำให้ราคาข้าวของเราสูงกว่า การแข่งขันทางการค้าก็จะยากลำบากยิ่งขึ้น จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่าปุ๋ยให้เหมาะกับสภาพดิน การปลูกเปียกสลับแห้ง ซึ่งข่าวดี คือ ทาง TGO ได้พัฒนาระเบียบวิธีการประเมินการลดก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซมีเทนในนาข้าว หากลดมีเทนได้เท่าไร ก็นำมาขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ จึงอาจเห็นชาวนาขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
2. ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
ธุรกิจใดที่มีการเผาไหม้อยู่ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโดยตรงไม่ได้อีก โดยอาจพิจารณาติดตั้งเทคโนโลยี CCUS ไว้ดักจับคาร์บอน นำมาอัดลงดินหรือหลุมอย่างถาวร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน หากมีการใช้งานมากขึ้น และนำมาขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศในรูปของคาร์บอนเครดิต บวกกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ คาดว่าค่าใช้จ่ายอาจจะต่ำลงได้
3. ด้านการค้า/การลงทุน
ปัจจุบัน BOI ส่งเสริมเรื่องการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น กรณีโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติ ถ้าใช้เทคโนโลยี CCUS จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี กิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็นที่หันมาเปลี่ยนใช้สารทำความเย็นลดก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือกลุ่มปิโตรเคมีใช้เทคโนโลยี CCUS จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และ 8 ปี ตามลำดับ อีกมาตรการที่มีผู้ยื่นใช้สิทธิจำนวนมากคือ มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ถ้าผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ร้อยละ 50 ของเงินลงทุน หากต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันสามารถบริจาค e-Donation เพื่อสนับสนุนป่าชุมชน ใบเสร็จนำไปยกเว้นภาษีเงินได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2023 – 31 ธันวาคม 2027
4. ด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต
TGO มีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ โดย “ผู้ซื้อ” เป็นภาคที่มีการรายงานข้อมูลและต้องการจะชดเชย ส่วน “ผู้ขาย” คือผู้ที่พัฒนาโครงการการลดก๊าซเรือนกระจก
5. ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก
เป้าหมายคือเพิ่มพื้นที่กักเก็บให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทเข้าร่วมปลูกและดูแลรักษาป่าในพื้นที่ของรัฐภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER เพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตได้เท่าไร บริษัทผู้พัฒนาโครงการรับไป 90% และแบ่งปันเครดิตให้กับภาครัฐ 10%
6. ด้านกฎหมาย
ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับแรกของไทย ในเบื้องต้นจะบังคับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูงก่อน โดยให้มีการรายงานข้อมูล เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. นี้ในปี 2024 นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลด้าน Climate Change โดยตรง
ดังนั้น หากเราจะเดินทางไปถึงเป้าหมายได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เช่น ภาคเอกชนนำนโยบายของภาครัฐและเรื่องที่เกี่ยวกับ Climate Change เช่น แนวคิด ESG เข้าไปอยู่ในนโยบายขององค์กร ตั้งเป้าหมายระยะยาวและพยายามลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม ส่วนที่ลดไม่ได้ก็ชดเชยจากคาร์บอนเครดิตที่ TGO ให้การรับรอง เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ตามเป้าหมาย
ติดตามสาระความรู้ดีๆ สำหรับธุรกิจ ได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/finbiz