AI สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

942
0
Share:

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้งในปัจจุบัน เพราะ ChatGPT และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันกำลังส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ AI ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ต้นกำเนิดของ AI สามารถย้อนกลับไปได้ถึงในช่วงทศวรรษ 1950 ทั้งนี้ผลจากการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน กำลังกลายเป็นกระแสหลักและสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง

 

 

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มก็เช่นกัน ธุรกิจจำนวนมากขึ้นกำลังเก็บเกี่ยวประโยชน์ต่างๆ จากเทคโนโลยี AI พร้อมกันนี้มีการคาดการณ์ว่า ตลาด AI ในภาคอาหารและเครื่องดื่มจะมีมูลค่าสูงถึง 29.94 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2571 ดังนั้นจึงคาดว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ลงทุนใน AI จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังคงมีความสับสนอย่างมากว่าแท้จริงแล้ว AI คืออะไร ทำงานอย่างไร และเป็นประโยชน์ต่อภาคอาหารและเครื่องดื่มอย่างไร

AI คืออะไร แมชชีนเลิร์นนิงคืออะไร

AI คือความสามารถของคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักร ที่สามารถลอกเลียนหรือเลียนแบบพฤติกรรมอันชาญฉลาดและปฏิบัติงานได้เหมือนมนุษย์ โดยสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ที่ต้องใช้ความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์ เช่น การคิด การใช้เหตุผล การเรียนรู้จากประสบการณ์ และที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจได้เอง

ส่วนแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning – ML) นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ AI ที่สามารถเรียนรู้และปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องตั้งโปรแกรมหรือช่วยทำ แมชชีนเลิร์นนิงใช้อัลกอริธึมและแบบจำลองทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาด โดยวินิจฉัยจากรูปแบบข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการขั้นต่อไป

AI เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในด้านใด

พูดง่ายๆ ก็คือ AI (เฉพาะส่วนแมชชีนเลิร์นนิง) มีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารทุกด้าน ทำให้แอปพลิเคชันอัจฉริยะที่ออกแบบเฉพาะสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม สามารถปรับปรุงระบบห่วงโซ่อุปทานได้ทุกจุดตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงมือผู้บริโภค ช่วยสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความคล่องตัวและขับเคลื่อนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนแมชชีนเลิร์นนิงสามารถให้คำแนะนำที่แม่นยำและทันเวลาสำหรับระบบห่วงโซ่อุปทานได้เกือบทุกด้าน ด้วยความสามารถในการคำนวณค่าข้อมูล พารามิเตอร์ สถานการณ์จำลอง และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จำนวนมาก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยากจะเลียนแบบหากปราศจากการใช้เทคโนโลยี AI

มีการใช้แมชชีนเลิร์นนิงในด้านใดบ้าง

ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะมีการใช้แมชชีนเลิร์นนิงอย่างไร้ขีดจำกัด เช่น เรื่องเกษตรแม่นยำ (precision farming) ที่แมชชีนเลิร์นนิงสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็นการวิเคราะห์การเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพยากรณ์สภาพอากาศเพื่อกำหนดพื้นที่และเวลาที่ต้องรดน้ำ หรือเวลาที่ต้องใส่ปุ๋ย เป็นต้น

บริษัทอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมากขึ้นหันมาใช้ AI เพื่อช่วยลดการสูญเสีย และค้นหาความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในระบบห่วงโซ่อุปทาน

เตรียมพร้อมรับกับทุกสถานการณ์

เมื่อไม่นานมานี้ เราอาจพอเข้าใจได้ถึงการที่ธุรกิจอาหารคิดว่าสิ่งที่แน่นอนที่สุดคือความไม่นอน แต่ด้วยสภาพอากาศแปรปรวนเพิ่มขึ้นที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แมชชีนเลิร์นนิงจะเข้ามีบทบาทด้านใดในเรื่องนี้ หากไม่มีรูปแบบข้อมูลให้ค้นหา

สิ่งที่แมชชีนเลิร์นนิงทำได้คือ ช่วยให้เข้าใจความเสี่ยงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อการเก็บเกี่ยวทั่วโลก ซึ่งความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยให้กำหนดแผนงานที่จำเป็นในการลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ แต่ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงทันสมัยที่สุดพร้อมสรรพแล้วก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพก็ต้องมีความเห็นพ้องต้องกันด้วย ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารจะต้องยืดหยุ่นมากขึ้น ลดการใช้น้ำ พลังงาน และทรัพยากรอื่นๆ ให้น้อยลง โดยแมชชีนเลิร์นนิงจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมาได้

ในขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาและธุรกิจต่างๆ ค้นพบประโยชน์ของการประยุกต์ใช้ AI ความสามารถของ AI ก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้นไปอีก โดยได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับการแก้ปัญหาเฉพาะของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ดังที่เราได้เห็นแล้วว่าการประยุกต์ใช้ AI อย่างรอบคอบกำลังช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และในระบบห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้คาดว่าจะมีการใช้ AI เพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะ AI ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นตัวขับเคลื่อนประสิทธิภาพที่แท้จริง พร้อมทั้งช่วยให้ธุรกิจวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ข้อมูลเชิงลึกที่นำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจำเป็นต่อการก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในอาเซียนกว่า 1.9 พันล้านล้านบาทในปี 2573 โดยมีโครงการ AI Thailand เป็นหน่วยงานกลางเพื่อการพัฒนาที่มุ่งสนับสนุนทิศทางการพัฒนาในทุกด้าน รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนา การศึกษา การนำไปใช้ และความปลอดภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้เทคโนโลยี AI อย่างยั่งยืน โดยได้ทำการสำรวจธุรกิจใน 10 ภาคส่วน ครอบคลุมผู้ตอบแบบสอบถามจาก 3,529 บริษัท โดยผลการศึกษาพบว่า 15.2% ของธุรกิจได้นำ AI ไปใช้แล้ว 56.7 % มีแผนจะใช้ในอนาคต และ 28.2% ไม่มีแผนใดๆ ในการใช้ AI

ดังนั้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) ขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยี AI จะถูกนำไปใช้อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ ตลอดจนจัดทำแนวทางการใช้ AI ในภาคส่วนต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการใช้ AI ในการเกษตรและอาหารเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน โดยเทคโนโลยี AI จะช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการพืชผล สุขภาพของดิน และการควบคุมศัตรูพืชได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา AI สำหรับอาหาร เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารอีกด้วย

บทความโดย เทอร์รี สมา, รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น, บริษัทอินฟอร์

Share: