ทีทีบี พร้อมด้วยสภาพัฒน์ ร่วมแชร์มุมมองเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก ปรับกลยุทธ์วางแผนธุรกิจรับความท้าทายในปี 2568

27
0
Share:

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดสัมมนา ttb I Executive Morning Briefing หัวข้อ “Economic Outlook and Global Market Movement 2025” เชิญสภาพัฒน์ ร่วมอัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก พร้อมแชร์มุมมองด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้ลูกค้าธุรกิจปรับกลยุทธ์วางแผนธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายในปี 2568

 

 

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ทีทีบีได้จัดงานสัมมนา ttb I Executive Morning Briefing ภายใต้หัวข้อ“Economic Outlook and Global Market Movement 2025” ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ เพื่ออัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ความท้าทายสำคัญและแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต รวมถึงวิธีการบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือกับความผันผวนต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกค้าธุรกิจในการวางแผนธุรกิจทั้งในปีนี้และในปี 2568 โดยทีทีบีพร้อมเป็นพันธมิตรที่ช่วยผลักดันให้ลูกค้าธุรกิจ เตรียมพร้อมรับมือและปรับกลยุทธ์เชิงรุกในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตในสมรภูมิการค้าโลกได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ดร.อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.9% และในปี 2568 จะเติบโตอยู่ที่ 3.3% โดยเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและจีนชะลอตัวลง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2568 คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ยของ FED ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่กลับมาเป็นบวกมากขึ้น รายรับจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผลที่จะเกิดจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ ที่อาจส่งผลต่อค่าเงินบาทที่ผันผวนในระยะสั้น ซึ่งต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังอยู่ในระดับต่ำ คาดการณ์ว่า GDP ในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.3-2.8% และแนวโน้ม GDP ในปี 2568 จะอยู่ที่ 2.5-3.5% โดยการขับเคลื่อนมาจาก 4 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว 2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 3) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 4) การกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมถึงอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยจากอันดับ 25 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน

อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการกีดกันทางการค้าและการลงทุน ภายหลัง Trade War สหรัฐฯ มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจาก ASEAN และไทยมากขึ้น ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงขึ้นต่อเนื่อง การชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกภายใต้ความเสี่ยงต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะสร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของโลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดผลกระทบทางการค้าและการลงทุนอย่างไรบ้าง ซึ่งลูกค้าธุรกิจต้องมีการวางแผนธุรกิจในระยะที่สั้นลง แต่ให้ความสำคัญกับการวางแผนโครงการมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในจุดที่ต่ำที่สุดได้ผ่านไปแล้ว แนวโน้มทิศทางเงินเฟ้อโลกจะดีขึ้น แต่การค้าระหว่างประเทศอาจไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประเมินเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขยายตัวได้แต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่นยังคงทรงตัว สำหรับตลาดที่เติบโตดีจะเป็นกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะตลาดอินเดีย กลุ่มตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย สำหรับจีนแม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แต่เศรษฐกิจจีนคาดการณ์ว่าจะเติบโตไม่เกิน 5% ซึ่งไทยต้องจับตามอง เนื่องจากสินค้าจีนที่ถูกมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ จะไหลเข้ามาในตลาดอาเซียนโดยเฉพาะไทยมากขึ้น

ส่วนอัตราดอกเบี้ยไทยยังคงอยู่ในช่วงขาลงแตะที่ระดับ 1.75% – 2.00% ต่อปี ขณะที่ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งเกิดจากรายได้เติบโตไม่ทันรายจ่าย ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นความหวัง ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน ยุโรป อินเดีย กลับเข้ามาในประเทศสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ในขณะที่จีนกลับเข้ามาเพียง 62% เท่านั้น ส่วนภาคการส่งออกของไทยคาดว่าจะเติบโตดีขึ้น ซึ่งไทยมีการส่งออกได้ดี โดยเฉพาะในตลาดกลุ่มซาอุดิอาระเบีย เม็กซิโก ออสเตรเลีย

นางสาวบุษรัตน์ เบญจรงคกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ลูกค้าธุรกิจที่ทำการค้าต่างประเทศต้องเผชิญกับความผันผวนของค่าเงิน โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีความผันผวนเฉลี่ย 10-12% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงผันผวนสูงอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ จึงแนะนำลูกค้าธุรกิจบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือกับความผันผวนนี้ ด้วย 4 เครื่องมือจาก ทีทีบี ได้แก่

1) การจัดการด้วยสกุลเงินท้องถิ่น โดยทีทีบี มีบริการ Local Currency Solution เพื่อช่วยลูกค้าธุรกิจในการบริหารจัดการต้นทุนจากความผันผวนที่เกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยสกุลเงินท้องถิ่น 11 สกุลเงิน และในอนาคตจะเพิ่มอีก 5 สกุลเงิน ซึ่งครอบคลุมเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

2) การจัดการด้วยเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ผสมผสานระหว่าง FX Spot, FX Forward รวมถึง การจัดการด้วย FX Option เพื่อซื้อ Protection ปิดความเสี่ยงค่าเงิน ซึ่งค่า Premium สำหรับ 3 เดือน และ 6 เดือนอยู่ที่ ไม่เกิน 3% ซึ่งนับว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับความผันผวนของดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันที่ 10-12%

3) การจัดการผ่านการลงทุน ใน FX Linked Note หรือหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Note) อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน

4) การจัดการด้วยบัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงิน ครบ จบที่เดียว ttb Multi Currency Account (MCA) บัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงินที่ดีที่สุดเพื่อธุรกิจนำเข้าและส่งออก ด้วยการใช้บัญชีเดียว สามารถใช้ซื้อ ขาย รับ จ่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ รับดอกเบี้ยเงินฝากต่างประเทศทันทีเมื่อมีเงินโอนเข้า แลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศไว้ล่วงหน้า

ทีทีบีพร้อมสนับสนุนลูกค้าธุรกิจไทยที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นในทุกสถานการณ์ ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยบริหารความเสี่ยงสำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เพื่อการวางแผนการบริหารงานและกลยุทธ์การเติบโตขององค์กรได้อย่างยั่งยืน

Share: