รับมืออย่างไร? เมื่อคุณแม่มือใหม่ “ซึมเศร้าหลังคลอด”

99
0
Share:

รู้หรือไม่? ท่ามกลางความรู้สึกตื่นเต้นยินดีที่ได้พบหน้าลูกน้อย หลังจากเฝ้ารอคอยมาตลอดหลายเดือน คุณแม่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่อาจต้องเจอกับภัยเงียบที่รออยู่ นั่นคือ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นผลจากการที่ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอด ทำให้คุณแม่มีอาการซึมเศร้า เสียใจ หดหู่ โดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากในการรับมืออย่างมาก โดยอาการจะมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ในระยะยาว

 

 

อย่าเพิ่งตกใจ! หากหลังคลอดคุณแม่มีอาการเศร้า กังวล อ่อนไหว ขี้หงุดหงิด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือเหนื่อยล้าจากการดูแลลูกน้อย เพราะนั่นอาจเป็นแค่อาการของ “เบบี้บลูส์” (baby blues หรือ Postpartum Blues) ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เล็กน้อยและเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ที่มักเกิดภายใน 3-5 วันหลังคลอด และอาการจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องรักษา

ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Perinatal Depression) เป็นภาวะผิดปกติทางอารมณ์ มักเกิดภายใน 6-8 สัปดาห์หลังคลอด มีอาการรุนแรง หรือกินเวลานานกว่าสองสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ซึ่งไม่สามารถหายเองได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพทั้งคุณแม่และลูกน้อย ทำให้เด็กมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น ร้องไห้มากผิดปกติ ไม่ยอมกินนม เป็นโรคสมาธิสั้น หรืออาจมีปัญหาพัฒนาการทางภาษา เป็นต้น แถมคนในครอบครัวอาจได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า

เช็คให้ชัวร์! ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดคุณแม่มีอาการอย่างไร?
• กังวลว่าจะไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองและลูกได้
• ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
• ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับลูก
• รู้สึกทุกข์ใจอย่างมาก
• อารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง
• ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน หรือติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
• มีความรู้สึกเหนื่อยหน่าย หมดความสนใจในงานหรือกิจกรรมที่ทำ
• อาการอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ได้

การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น คุณแม่และคนใกล้ชิดต้องดูแลเตรียมความพร้อมทั้งก่อนและหลังคลอด เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะนี้ได้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นซ้ำได้ถึง 50%

วิธีการรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อาทิ
• การทานอาหารที่มีประโยชน์
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
• หาเวลาพักระหว่างวัน
• ให้คุณพ่อ/คนใกล้ชิดช่วยดูแลลูก
• ระบายความรู้สึกให้คนใกล้ชิดฟัง
• มีเวลาให้กับตัวเองบ้าง
• ลดการรับข่าวสาร
• ปรึกษาแพทย์

หากมีอาการรุนแรง ควรต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมิน โดยการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีดังนี้
1. การทำจิตบำบัด การได้พูดคุยกับแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักวิชาการสุขภาพจิต ช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายผ่อนคลายความวิตกกังวล และร่วมกันหาวิธีรับมือกับสถานการณ์และอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม
2. การรักษาด้วยยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านความเศร้า ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของยาก่อนใช้ ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ทำจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยาร่วมกัน

Share: