“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” คลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย ร่วมโครงการระดับโลก World Economic Forum มุ่งเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมลดคาร์บอน

503
0
Share:

สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ คลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย ลำดับที่ 3 ของอาเซียน และลำดับที่ 21 ของโลก ร่วมโครงการระดับโลก “Transitioning Industrial Clusters” โดย World Economic Forum  การผนึกพลังของอุตสาหกรรมชั้นนำทั่วโลก มุ่งเดินหน้าผลักดันการลดคาร์บอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต หนุนเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตแบบโลว์คาร์บอน

 

สระบุรีแซนด์บ็อกซ์เข้าร่วมโครงการ “Transitioning Industrial Clusters” ขององค์กรระดับโลก World Economic Forum โดยเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทยที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน พร้อมกับลดคาร์บอน ทั้งยังโดดเด่นด้านการประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทำงานแบบ PPP (Public-Private-People Partnerships) มี 3 ภาคีหลักที่เป็นผู้ก่อตั้งและผลักดันจนเกิดความคืบหน้า ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และจังหวัดสระบุรี ทั้งยังทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ กว่า 20 องค์กร และ 7 กระทรวง

ความร่วมมือนี้สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศผ่านการสร้างงาน ช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 5 ด้าน ตาม Nationally Determined Contributions (NDCs) ได้แก่ พลังงานและการขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสีย เกษตรกรรม รวมทั้งการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้

จังหวัดสระบุรีเป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ใหญ่ที่สุดในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของไทย จึงมีเป้าหมายหาแนวทางขับเคลื่อนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การระดมทุน เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แล้ว ยังมีส่วนกู้วิกฤตโลกเดือดด้วย

ขอต้อนรับสระบุรีแซนด์บอกซ์ คลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย เข้าสู่โครงการ World Economic Forum  ที่มีเป้าหมายเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สระบุรีแซนด์บ็อกซ์เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานแบบบูรณาการ มีพันธมิตรต่าง ๆ ให้ความร่วมมือ ช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่กว่าร้อยละ 80 ตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี ลดการปล่อยคาร์บอนในภูมิภาค เกิดการสร้างงานในทุกภาคส่วน และเพิ่ม GDP ให้ประเทศ” Roberto Bocca หัวหน้าศูนย์พลังงานและวัสดุ และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร World Economic Forum กล่าว

โครงการ Transitioning Industrial Clusters ของ World Economic Forum ได้รับการสนับสนุนจาก Accenture และ EPRI มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน และเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานสีเขียวในคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผ่านการจัดการด้านการเงิน นโยบาย เทคโนโลยี และการสร้างความร่วมมือ

 

Share: