คนไทยกังวลเรื่องการบริโภคน้ำตาลสูงถึง 75% แต่กลับมีความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลที่บริโภคต่ำกว่า 25%

610
0
Share:

ปีใหม่มักจะเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ พร้อมกับการตั้งเป้าหมายใหม่ๆ และด้วยกระแสสุขภาพที่มาแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะให้ความสำคัญกับการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ

 

 

มาร์เก็ตบัซซได้ดำเนินการสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 1,000 รายในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระดับความตระหนักรู้และพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทย

ผลการสำรวจภาพรวมชี้ให้เห็นว่าคนไทยกังวลเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาล โดย 75% ของคนไทย ระบุว่ากังวลเรื่องการบริโภคน้ำตาลมากที่สุดเพราะส่งผลต่อสุขภาพ และตัวเลขนี้พุ่งสูงถึง 91% ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งมีความกังวลมากเป็นพิเศษเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในอาหารที่รับประทาน

จริงๆ แล้ว ความรู้สึกผิดจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปนั้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ เช่น ไขมัน หรือ คาร์โบไฮเดรต โดย 62% ของคนไทยรู้สึกผิดเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ในขณะที่ 49% รู้สึกผิดกับการบริโภคไขมันมากเกินไป และเพียง 31% รู้สึกผิดเกี่ยวกับการบริโภคคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป

และพบว่าคนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มเดียวกันที่รู้สึกผิดมากขึ้นเมื่อบริโภคน้ำตาล ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป โดย 85% ของกลุ่มอายุ 15-24 ปี รู้สึกผิดเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป เมื่อเทียบกับ 62% ในกลุ่มทุกวัย ความกังวลที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างไปสู่การดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้นและการได้รับข้อมูลด้านโภชนาการมากขึ้น

อะไรที่คนไทยกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป สองสาเหตุหลัก คือ ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาล และความเสี่ยงของโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น โดยคนไทย 83% เห็นด้วยว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย และ 76% เห็นด้วยว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน

ด้วยเป้าหมายที่จะลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาล ประเทศไทยได้มีการจัดเก็บภาษีน้ำตาลใหม่ในปี พ.ศ. 2560 สำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มล. จากผลสำรวจพบว่าคนไทยมากกว่าครึ่ง (51%) สนับสนุนกฎหมายภาษีนี้ โดย 53% คิดว่านโยบายประเภทนี้มีประสิทธิภาพ แต่จะมีเพียงกลุ่มคนที่มีความรู้เกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เท่านั้นที่สนับสนุนนโยบายภาษีน้ำตาล และคิดว่านโยบายนี้มีประสิทธิภาพและได้ผลจริง

คนไทยตระหนักถึงปริมาณน้ำตาลที่พวกเขาบริโภคในชีวิตประจำวันจริงๆ หรือไม่?

ถึงแม้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีน้ำตาลและได้รับการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวนี้ แต่ก็ยังไม่ได้สร้างอิมแพ็ค หรือยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของคนไทยต่อการบริโภคน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ที่บริโภคในชีวิตประจำวันมากเท่าไรนัก

ถึงแม้คนไทยจะกังวลเรื่องน้ำตาล แต่ก็ชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ปริมาณน้ำตาลที่ตัวเองบริโภคจริงๆ จากการสำรวจ Marketbuzzz ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ 8 ชนิดที่คนไทยนิยมบริโภค ให้เปรียบเทียบกันเพื่อดูว่าพวกเขาสามารถระบุผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูงที่สุดได้หรือไม่ ผลิตภัณฑ์ 8 ชนิด ได้แก่ โค้กกระป๋อง (325 มล.), ช็อกโกแลต Snickers (47 กรัม), โยเกิร์ตดัชชี่ รสสตรอเบอร์รี่ (135 กรัม), ดังกิ้นโดนัท (50 กรัม), เครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull (250 มล.), ชาเขียวต้นตำรับอิชิตัน (420 มล.), นมเปรี้ยวยาคูลท์ (80 มล.) และนมสดพาสเจอไรซ์เมจิ รสสตรอเบอร์รี่ (200 มล.) โดยผลสำรวจพบว่า คนไทยน้อยกว่า 25% สามารถระบุผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูงที่สุดได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ คนไทยมากกว่า 4 ใน 5 ยังไม่ทราบว่าในน้ำตาล 1 ช้อนชา มีปริมาณเทียบเท่ากับน้ำตาลกี่กรัม และ/หรือกี่แคลอรี่ (น้ำตาล 1 ช้อนชา = 4 กรัม ให้พลังงาน 16 กิโลแคลอรี่) การทดสอบนี้ค่อนข้างท้าทาย แต่ทำให้เราเห็นว่าถึงแม้คนไทยจะตระหนักถึงความเสี่ยงและแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการรับรู้และเข้าใจถึงปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคในแต่ละวัน

ถึงเราจะได้ยินเรื่องอันตรายของน้ำตาลมากมาย แต่เมื่อมองลึกๆ เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลเกิน ปัจจัยแรกคือ ‘ความหลากหลายและความสะดวกในการหาซื้อมาบริโภค’ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลมักจะหาซื้อได้ง่ายกว่าของที่น้ำตาลน้อย ส่วนอีกปัจจัยคือ ‘ราคาที่ไม่แพง’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หากอาหารทุกชนิดมีราคาถูกลง ซึ่งจะทำให้คนมีโอกาสเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกมักจะมีปริมาณน้ำตาลสูง และเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

คุณแกรนท์ บาร์โทลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) กล่าวว่า “ผลการสำรวจนี้ไม่ได้หมายถึงจุดสิ้นสุดของผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาล หรือถึงจุดสิ้นสุดของการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวันของพวกเราในอนาคตอันใกล้ แต่เราควรมองในมุมที่แตกต่างออกไป ผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องพิจารณาส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่แสดงปริมาณส่วนผสมที่สามารถวัดได้ รวมถึงการแสดงข้อมูลทางโภชนาการที่ชัดเจนมากขึ้น และการอ้างสิทธิ์ความเป็นแบรนด์ที่มีน้ำตาลต่ำ (โลว์ชูการ์)/ไม่มีน้ำตาล บนบรรจุภัณฑ์ด้วย”

คุณแกรนท์ บาร์โทลี กล่าวเสริมว่า “โดยรวมแล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าความต้องการของผู้บริโภคจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความพยายามในการปรับสูตรลดน้ำตาลและเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น แต่จำเป็นต้องได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ผลิตแบรนด์อาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมและวิชาชีพทางการแพทย์ พร้อมกับการบังคับใช้มาตรการเพื่อปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์ ฉลากโภชนาการ และสื่อต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างทัศนคติให้กับผู้บริโภค แม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายมากมายและปริมาณน้ำตาลในแต่ละผลิตภัณฑ์แตกต่างกันอย่างมาก ฉะนั้นการสร้างความตระหนักรู้และรู้จักเทียบเคียงปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ จากนั้นผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เอง

แม้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และความเชื่อของผู้บริโภคเกี่ยวกับน้ำตาลกำลังเปลี่ยนไป อย่างช้าๆ ก็ตาม แต่แบรนด์อาหารที่จะเติบโต คือแบรนด์ที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และปรับตัวได้เร็วกว่า ยิ่งช้ายิ่งเสียเปรียบ แม้ในอนาคต ผู้บริโภคอาจยังคงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลมากอยู่ แต่อย่างน้อยก็จะเป็นการบริโภคที่ได้รับความรู้และข้อมูลที่มากขึ้น

Share: