Jubilee ย้ำชัดกระแสเพชรสังเคราะห์ ไม่ใช่ปัจจัยหลักฉุดราคาเพชรแท้ ชี้ตลาดคนละกลุ่ม แค่ทางเลือกเรื่องความสวยงาม แต่ไม่ตอบโจทย์การลงทุน
จริงหรือ? ที่กระแสความนิยมใน “เพชรสังเคราะห์” หรือ เพชรเลี้ยง พุ่งสูงขึ้น กระทบต่อดีมานด์ในตลาด “เพชรแท้” จนทำให้ De Beers ยักษ์ใหญ่วงการเพชรต้องปรับลดราคาเพชรลงถึง 40% ตามที่มีกระแสข่าวออกมาสร้างความแตกตื่นให้กับตลาด ซึ่งนางสาวอัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Jubilee ผู้นำธุรกิจเครื่องประดับเพชรแท้อันดับหนึ่งของเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ “ยูบิลลี่ ไดมอนด์” มีคำตอบ พร้อมอธิบายเรื่องราวของตลาดเพชร
ความนิยมในเพชรสังเคราะห์ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาเพชรแท้ที่เจียระไนยแล้ว แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเพชรแท้ ทำให้ดีมานด์หดตัวและราคาย่อลงมา โดยถือเป็นเรื่องปกติที่ราคาจะต้องปรับตัวลงให้สอดคล้องกันระหว่างดีมานด์และซัพพลายที่แท้จริงของตลาด เนื่องจากช่วงเกิดโรคระบาดโควิดในปี 2019-2021 ธุรกิจเหมืองเพชรหยุดชะงัก และเมื่อเกิดสงครามยูเครน-รัสเซียก็มีการแบนเพชรจากเหมืองรัสเซีย ทำให้ซัพพลายหายไปจำนวนมาก ขณะที่หลังโควิดคลี่คลาย ตลาดฝั่งอเมริกาเริ่มเปิด และจีนก็เริ่มทยอยปลดล็อกมาตรการต่างๆ ตลาดเพชรกลับมามีความต้องการเพิ่มขึ้น ยิ่งส่งผลให้ราคาเพชรพุ่งสูงขึ้นถึง 27.3%
ทั้งนี้ การที่ De Beers ยักษ์ใหญ่วงการเพชรปรับลดราคาลง 40% นั้น เป็นการปรับลดราคาเฉพาะเพชรดิบ (Rough Diamonds) เฉพาะกลุ่ม select makeables เป็นกลุ่มที่คุณภาพความสะอาดไม่สูง จะใช้ในอุตสาหกรรมเป็นหัวของเครื่องจักร และหากเพชรกลุ่มนี้จะเจียระไนยเป็นเพชรที่ใช้เป็นเครื่องประดับก็จะได้ yields ที่ลดลงมา 50% จากก้อนเพชรดิบ เช่นเพชรดิบขนาด 2-4 กะรัต หากนำมาเจียระไนเป็นเพชรคุณภาพที่สวมใสเป็นเครื่องประดับ ก็จะใช้ได้ประมาณ 1-2 กะรัต โดยคุณภาพเพชรพอใช้ได้แต่ไม่ถึงระดับที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบ ส่วนเพชรกลุ่มที่เจียระไนแล้ว (Polished Diamonds) การปรับตัวของราคาลดลงมาไม่ถึง 10% อย่างไรก็ตาม แม้ราคาเพชรจะตกลงมา แต่ราคายังเติบโตกว่าก่อนเกิดโรคระบาดโควิด ทั้งนี้ เพชรถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ เพราะเข้าเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ คือ 1. มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา 2.มีความต้องการในตลาด 3.มีราคามาตรฐาน และ 4.สามารถขายออกได้เพื่อคืนทุน ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงที่กำลังปรับสู่ราคาตลาดที่แท้จริง นับเป็นอีกช่วงหนึ่งที่น่าจะเข้าไปลงทุน เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
มาทำความรู้จักกับตลาดที่ใช้เครื่องประดับเพชรแท้ ซึ่งตลาดใหญ่จะมีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยเฉพาะตลาดอเมริกาและจีน ถือว่าใหญ่มากรวมกันแล้วมีการใช้เพชรแท้มากกว่า 60% แบ่งเป็น อเมริกา ประมาณ 48% และจีนประมาณเกือบ 20% ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในอเมริกาส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจเรื่องคุณภาพเพชรแท้ตามหลัก 4Cs (Carat กะรัต หรือน้ำหนักเพชร, Cut เหลี่ยมการเจียระไน, Color สี หรือ น้ำ, Clarity ความสะอาด ที่เพชรแท้จะมีตำหนิตามธรรมชาติ) แตกต่างจากผู้บริโภคในตลาดแถบเอเชียที่จะเน้นในเรื่องคุณภาพเพชรแท้ตามหลัก 4 Cs ซึ่งเป็นมูลค่าในตัวของเพชรแท้
“ผู้บริโภคในตลาดอเมริกาส่วนใหญ่มีค่านิยมแค่ขอให้ได้ใส่เพชร ใช้เพชร แต่ไม่ค่อยสนใจในเรื่องคุณภาพเพชรแท้มากเท่าผู้บริโภคในตลาดเอเชีย ซึ่งใช้เพชรคุณภาพสูง ประกอบกับตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจมีการชะลอตัว และมีการใช้เพชรคุณภาพต่ำอยู่แล้ว ผู้บริโภคบางกลุ่มจึงหันมาใช้เพชรสังเคราะห์ที่ราคาไม่สูงกันมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดเพชรสังเคราะห์ในอเมริกาได้รับความนิยมและเติบโตขึ้น ซึ่งจริงๆ เพชรสังเคราะห์มีนานแล้ว และมีความพยายามทำให้คล้ายเพชรแท้มากขึ้นด้วยเทคโนโลยี โดยตอนเข้ามาในตลาดใหม่ๆ ราคาจะถูกกว่าเพชรแท้ 20-30% แต่ปัจจุบันราคาถูกกว่า 70-90% สะท้อนว่าเป็นลูกค้าคนละกลุ่มและเป็นคนละตลาดกัน ในขณะที่ De Beers เองก็ผลิตเพชรสังเคราะห์ เพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาด เพื่อทำให้ราคาลดลง ตอกย้ำว่าราคาเพชรสังเคราะห์มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ไม่มีแวลูในอนาคต ดังนั้น เหตุการณ์การปรับตัวของราคาเพชรแท้ ทาง De Beers มองว่า จะเกิดขึ้นแค่ระยะสั้น และเป็นการปรับตัวตามกลไกของตลาด จากการที่ราคาพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงโรคระบาดโควิด และช่วงระยะเวลานี้ เป็นการปรับตัวในกลับมาในจุดที่ควรจะเป็น จึงเป็นช่วงควรลงทุนหรือเก็บสะสม และในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีในทุกๆ ปี ตลาดเพชรแท้จะมีการปรับราคาขึ้นตามความต้องการในตลาดที่มีมากขึ้น จึงยืนยันได้ว่า เพชรแท้มีมูลค่าในตัวเองที่จะเติบโต จึงเป็นสินทรัพย์ลงทุนได้”
แม้ในปัจจุบันเพชรสังเคราะห์จะมีความใกล้เคียงกับเพชรแท้เป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ทำให้ไม่สามารถเทียบเท่าเพชรแท้ได้ คือ มูลค่าในตัวเองที่จะเติบโต โดยคนทั่วโลกไม่ได้มองเพชรสังเคราะห์เป็นการลงทุน จะซื้อขายหรือแม้แต่จำนำก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีมูลค่าเพิ่มในอนาคต จากการที่สามารถผลิตเพิ่มได้ไม่จำกัด ต่างจากเพชรแท้ที่นับวันยิ่งหาได้น้อยลง ดังนั้น เพชรสังเคราะห์อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ชื่นชอบเพชรในแง่ของความสวยงาม และไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าในอนาคต แต่หากมองหาเพชรในแง่ของการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าในอนาคต แน่นอนว่า เพชรแท้ตอบโจทย์ได้ดีกว่า ตอกย้ำว่าเพชรสังเคราะห์ไม่ได้เกิดมาเพื่อทดแทนเพชรแท้ แต่เป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีความชอบ และวัตถุประสงค์ที่ต่างกันนั่นเอง
“เพชรแท้ ถือเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ดี (Alternative Investment) สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในตลาดสากลไม่ต่างจากทองคำ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ใช้กันทั่วโลกมีใบรับรองคุณภาพ (certificate) ที่มีมาตรฐานโลกรองรับ ที่สำคัญมูลค่าไม่เลือนหายตามกาลเวลา จึงควรค่าต่อการลงทุนในระยะยาว”