“ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม รู้เร็ว ป้องกันได้ ลดการตายเฉียบพลับ

1117
0
Share:

 

“ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ” หรือ “Venous Thromboembolism” (VTE) เป็นภัยเงียบที่น้อยคนจะรู้จักและเข้าใจถึงอันตราย ทั้งที่อุบัติการณ์ของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากทั่วโลก พบว่า อัตราผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย โดย 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน สถานการณ์ในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการสำรวจผู้ป่วยใน ระหว่างปี 2559 – 2563 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือ Pulmonary Embolism (PE) เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ’ ถือเป็นภัยเงียบที่แฝงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบกินของทอด ล้วนเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำทั้งสิ้น และอาจอันตรายถึงชีวิต

ศ. นพ. พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เป็นโรคที่พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่มีคนรู้จักเพียง 20% ซึ่งภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำมักจะเกิดขึ้นที่ขาและที่ปอด โดยลิ่มเลือดจะเริ่มก่อตัวและทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึกของร่างกาย หรือ Deep Vein Thrombosis (DVT) เกิดที่ขาเป็นส่วนใหญ่ และอาจหลุดเข้าไปยังปอด เรียกว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือ Pulmonary Embolism (PE) ทำให้มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ซึ่งบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ มักจะไม่ทราบว่าตนเองเป็น มากถึง 80% ของผู้ป่วยไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยที่แสดงอาการมักจะมีลิ่มเลือดอุดตันขนาดใหญ่แล้ว จึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก”

กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้นั้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน รวมถึงผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มที่สูบบุหรี่จัด กลุ่มที่มีพฤติกรรมเนือยๆ นิ่งๆ ไม่ค่อยขยับร่างกาย รวมถึงผู้สูงอายุ สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน การผ่าตัด พันธุกรรม การใช้ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด เนื่องจากสาเหตุหลักๆ 3 ประการของภาวะนี้ คือ 1. เลือดไหลเวียนช้า เช่น การนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ เป็นเวลานาน 2. การบาดเจ็บของหลอดเลือด เช่น กลุ่มนักกีฬาที่ออกกำลังกายหนักๆ จนเกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือด และ 3. การแข็งตัวของเลือด หรือภาวะทางพันธุกรรม ที่ร่างกายบกพร่องการสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย เป็นต้น

เช็กสัญญาณเตือนภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจง อาการที่แสดงออกจึงหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา จะมีอาการปวดขา ขาบวม ผิวหนังที่ขาเปลี่ยนสีไปจากเดิม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อเห็นอาการจะไปหาแพทย์โรคผิวหนัง หรือแพทย์กระดูกเป็นหลัก ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้ อยากให้ผู้ป่วยขอให้มีการตรวจร่างกาย ตรวจวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขาร่วมด้วย ส่วนในกรณีที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ปอด ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืดหรืออาจหมดสติ ไอเป็นเลือด ซึ่งอาการดังกล่าว ผู้ป่วยมักจะคิดว่าเป็นโรคอื่นๆ ได้ หรือในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ อาจจะเกิดได้ในกลุ่มที่ทานยาคุมกำเนิด เนื่องจากเลือดจะแข็งตัวง่ายขึ้น แล้วมีการเดินทางไกลนั่งเครื่องบินหรือนั่งรถนานๆ ร่วมด้วย หรือในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือกลุ่มที่มีการแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ รวมถึงภาวะพันธุกรรม ซึ่งหากมีคนในครอบครัวมีประวัติ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นเดียวกัน

แม้อาการดังกล่าวอาจไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันเสมอไป ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ควรตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของภาวะนี้ และทำการประเมินผู้ป่วยในทันที เช่น ควรให้ยาป้องกันในผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำขณะที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่ สิ่งสำคัญคือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรกและมีการรักษาให้เหมาะสมในช่วง 3-6 เดือนแรก จะสามารถป้องกันความเสี่ยงและรักษาให้หายขาดได้ “ทุกคนควรต้องตระหนักรู้ ถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันให้มากขึ้น เพื่อการวินิจฉัยได้รวดเร็วและรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ ซึ่งการป้องกันและการรักษาในปัจจุบัน จะมีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทานยา ฉีดยา หรือใส่ถุงน่อง ใช้เครื่องบีบนวด การตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องนับเป็นสิ่งสำคัญ” ศ. นพ. พันธุ์เทพ กล่าว

การป้องกันตนในเบื้องต้นจาก “ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ” สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากการมีโรคประจำตัว หมั่นขยับร่างกาย ออกกำลังกาย และไม่ควรอยู่ในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่เกณฑ์มาตรฐาน และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจเช็กความผิดปกติของหัวใจ

“วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น ‘World Thrombosis Day’ หรือ ‘วันหลอดเลือดอุดตันโลก’ โดยในปี 2565 นี้ ทางสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ ในหัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ในภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” ครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัย การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงการรักษา ในปีนี้มุ่งประเด็นเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมน การกินยาคุมกำเนิด ภาวะโรคอ้วน ซึ่งเป็นอีกความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุน้อย” ศ. นพ. พันธุ์เทพ กล่าวทิ้งทาย

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม หรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรม “วันหลอดเลือดอุดตันโลก” สามารถติดตามได้ที่เพจสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/tsh.or.th และเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที รับชมคลิปเรื่องราวของผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ที่ https://youtu.be/DIgHBe-r8cU

Share: