finbiz by ttb แนะ 10 เคล็ดลับ SME ต้องรู้ เพื่อโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด บนเวทีนำเข้า-ส่งออก

892
0
Share:

 

เมื่อโลกเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่ง finbiz by ttb ขอพาไปเจาะลึกเทรนด์และโอกาสสร้างความเติบโต สำหรับการค้าระหว่างประเทศของเอสเอ็มอีนำเข้า-ส่งออก โดยเจาะไปที่โอกาสของธุรกิจนำเข้า-ส่งออก (5 Global Trends) และยังมี 5 เคล็ดไม่ลับสร้างการเติบโตของธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ( 5 Growth Hacks)

เริ่มจาก 5 Global Trends กระแสโลกที่ธุรกิจต้องจับตา
ธุรกิจทันกระแสโลกจะสามารถปรับตัวได้ทัน และคาดการณ์ล่วงหน้าได้ นี่คือ 5 กระแสสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปตลอดกาล และอีกส่วนหนึ่งจากวิถีเศรษฐกิจโลกที่มีการพัฒนาไปจากเดิม

1) CHINA + RCEP จะแซงหน้าเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเร็ว ๆ นี้
ในปี 2022 นี้ มีความเป็นไปได้อยู่มากที่จีนจะแซงสหรัฐฯ ไปสู่การเป็นผู้นําเข้าอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งตลาด RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก คือ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งประชากรและ GDP ตลาดนี้จึงเป็นตลาดสำคัญ โดย RCEP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 ประกอบด้วย 15 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย เมียนมา นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และ เวียดนาม

2) ปลดล็อก Demand E-commerce เติบโตในตลาดโลกไร้พรมแดน
ปัจจุบัน E-commerce ได้ครองตลาดมากกว่าออฟไลน์ไปแล้ว ถึง 60% และยิ่งสำหรับในไทยตลาดออนไลน์ได้กินตลาดไปถึง 95% ในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งกำลังจะเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ดังนั้นนอกจากธุรกิจจะต้องหาโอกาสจากตลาดออนไลน์แล้ว กุญแจหลักสำคัญในการเข้าถึงการค้าในโลกยุคใหม่คือ แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่จะทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้จากทั่วทุกมุมโลก

3) สินค้ากลุ่ม Hi-Tech ตลอดทั้งซัพพลายเชน โตแบบก้าวกระโดด
ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ผลักดันให้สินค้าเทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า High-tech ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ Gadget หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยี ต้องรีบคว้าโอกาส เพราะไลฟ์สไตล์ดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อย่างที่เห็นได้จาก ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีการเติบโต และคาดว่าจะเติบโตเป็นสองเท่าของทุกปี โดยได้รับแรงหนุนจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งราคาพลังงาน และแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม

4) Homebody Economy ชีวิตติดบ้าน
จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนมีชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น และถึงแม้จะระวังการใช้จ่าย แต่กลับลงทุนกับคุณภาพชีวิตมากขึ้น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ เครื่องโทรศัพท์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม กลุ่มนี้จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีผลสำรวจที่น่าสนใจ คือ คนไทยอยากทำงานที่บ้านเป็นอันดับ 1 ของโลก นั่นหมายถึง อุปกรณ์หรือสินค้าใดๆ ที่สามารถรองรับการทำงานที่บ้าน การอยู่กับบ้านได้นั้น มีโอกาสเติบโตสูง

5) Wellness First สร้างสมดุลสุขภาพ กาย-ใจมาก่อน
เทรนด์การสร้างสุขภาพแบบรอบด้านต่อเนื่องจากการได้อยู่กับบ้าน มีเวลาให้ตัวเอง และได้โฟกัสที่คุณภาพชีวิตมากขึ้น เทรนด์ของ Wellness จึงกลายเป็น Top Agenda ของคนทั้งโลก อะไรที่ทำให้ชีวิตดี มีคุณภาพ การป้องกันเชื้อโรคก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้คนหันมาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงาน เก้าอี้ อาหารการกิน ทุกอย่างจะถูกคัดสรรเพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ความสมดุลทั้งกายและจิตใจ หากธุรกิจที่ดำเนินอยู่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ให้ลองหาวิธีว่าจะทำอย่างไร อาจจะลองเพิ่มฟังก์ชันและจุดขายของสินค้า หรือใช้นวัตกรรมเข้าช่วย เพื่อพัฒนาสินค้าให้เอื้อกับคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น

ตามด้วย 5 Growth Hacks เคล็ดไม่ลับ เสริมธุรกิจให้โตไว
เป็นวิสัยทัศน์ที่ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญ โดยเน้นเป็นตัวอักษรจำง่ายๆ คือ A – E

 

 

A) Think Ahead คิดตอบโจทย์ล่วงหน้า
#มองไปข้างหน้า #เตรียมตัวล่วงหน้า Be Customer Centric เอาลูกค้าเป็นที่ตั้งและคาดการณ์ล่วงหน้าจากสถานการณ์ว่าเทรนด์ต่อไปจะใช้อะไร ทั้งสินค้าและบริการ ตัวอย่าง ตลาดเกมมิ่งที่เติบโตอย่างมหาศาล ทำให้มองไปข้างหน้าได้ว่าอุปกรณ์เกมมิ่ง หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ก็จะตามมา รวมไปถึงสินค้าต่างๆ ที่อยู่ในกระแสต่อเนื่องอีกด้วย

B) Build Brand เสริมความแข็งแรงให้แบรนด์
#สร้างแบรนด์ #สร้างความโดดเด่น Story Telling Your Brand เสริมความแกร่งให้กับแบรนด์ การสร้างจุดเชื่อมโยงระหว่างลูกค้าและแบรนด์ของเรา สร้างจุดประสงค์ร่วมกัน มีผลจากการสัมภาษณ์ที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่ Gen Z พบว่า แม้ว่าพวกเขาจะชอบความสมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังต้องการความจริงใจ ดังนั้นหากสินค้าที่อาจจะไม่ได้ถึงกับสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ยังคงแสดงออกถึงความจริงใจได้มากกว่า ก็จะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

การสร้างเรื่องราวให้กับแบรนด์ การบอกต่อไปยัง Influencer หรือคนที่กลุ่มผู้บริโภคเชื่อ หรือการสร้างเรื่องที่หลีกหนีจากโลกจำเจและการแก้ปัญหาของสินค้าที่มีในปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการเล่าเรื่องก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เช่น การใช้ QR ในการเล่าเรื่องราวผลิตภัณฑ์บนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

C) Consumers Direct สื่อตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย
#สื่อตรง #โอกาสขายเพิ่ม D2C (Direct to Customer) จากผลสำรวจในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า การซื้อสินค้าโดยตรงจากแบรนด์ กลายมาเป็นวิธีที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือถึง 66% ของผู้ซื้อ ซึ่งจากเดิมเรามักจะเห็นแบรนด์ใหญ่ๆ มักจะให้ซื้อขายผ่านตัวแทนจำหน่าย หรือ ผ่านโมเดิร์นเทรดมากกว่าซื้อขายตรงกับลูกค้า

ผลสำรวจพบว่า ลูกค้า 82% ที่เข้าชมเว็บไซต์ของแบรนด์สินค้าคาดหวังว่าจะต้องทำการซื้อขายตรงบนช่องทาง E-commerce ได้ และ 90% ทำการซื้อบนเว็บไซต์เจ้าของแบรนด์

ยกตัวอย่าง การเติบโตของสินค้าภาคเกษตรของไทย การ Live Streaming ของเจ้าของสวน สามารถกระตุ้นยอดขายได้มหาศาล และการส่งออกจากสวนโดยตรงก็เพิ่มขึ้นถึง 48% ในกลุ่มของ ขนุน ทุเรียน และมะพร้าว

D) Go Digital ใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มโอกาส
#เชื่อมต่อประสบการณ์ ผู้บริโภคเน้นช้อปสะดวกมากกว่า “ราคาถูก”
• ลูกค้าเกือบ 60% เชื่อว่าบริษัทควรมอบประสบการณ์ดิจิทัลที่ล้ำสมัย เพื่อแข่งกับการยึดติดในสินค้าแบรนด์เดิมที่ลูกค้ายึดติด
• 75% ของผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศมากขึ้น ตัวอย่าง ในอินโดนีเซีย การนำเข้าผ่านระบบออนไลน์เติบโตขึ้น 8.1 เท่า
• การสร้าง Ecosystem ให้กับแบรนด์ การใช้ Omni Channel มอบความง่าย สะดวก และประสบการณ์จากออฟไลน์สู่ออนไลน์แบบไร้รอยต่อ การทดลองสินค้าในแบบออฟไลน์ นำไปสู่การตัดสินใจสั่งซื้อแบบออนไลน์ได้แบบไม่มีสะดุด และช่วยให้สามารถเพิ่มโอกาสได้อย่างมหาศาล และเชื่อมต่อประสบการณ์แบบไร้ที่ติ

E) Embrace the Environment โอบกอดสิ่งแวดล้อม
#BetheChange โอบกอดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน พบว่า 85% ของผู้คน เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ ไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การตัดสินใจจะไม่ใช่เพียงแค่พิจารณาความดีในแง่มุมที่ผู้บริโภคได้รับเท่านั้น จะต้องรวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณภาพชีวิตไปบนสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอีกด้วย

10 เคล็ดลับนี้ คงจะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เห็นภาพรวมและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ โดยใช้การนำเข้า–ส่งออกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ สามารถแข่งขันได้ และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ที่มา :
• งานสัมมนาออนไลน์ “ttb SME the X-Change เจาะลึกสูตรสำเร็จการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าสู่การเป็น SMART SME ยุค Next Normal” (link open new tab > https://youtu.be/43p1IPCaQWc)
• “Xtreme growth opportunity for import-export” โดย คุณแคทรีน อมตวิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เฮด วัน ฮันเดรด จำกัด

สนใจศึกษาความรู้และเคล็ดลับทางธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้ธุรกิจ ด้วยแนวคิด “ครบ จบในที่เดียว ปรับใช้ได้ง่าย ต่อยอดได้จริง สู่การเป็น Smart SME” ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมองค์ความรู้ที่ครบครัน จากพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวในยุคดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน คลิก https://www.ttbbank.com/th/finbiz

 

Share: