รู้ทัน 5 กลโกงมิจฉาชีพบนแอป LINE พร้อมแนะ 5 วิธีรับมือช่วยเช็คก่อนเชื่อ ไม่เป็นเหยื่อกลโกง
นับวันกลโกงมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิทัลจนกลายเป็นวิถีชีวิตปกติ จนหลายคนเผลอ หลวมตัวตกเป็นเหยื่อ เพราะเหล่ามิจฉาชีพต่างก็งัดกลเม็ดมาหลอกได้อย่างแนบเนียน ขณะที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็พยายามปราบปรามและให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชากรดิจิทัลในการป้องกันตัวเองไปพร้อม ๆ กัน
เช่นเดียวกับ LINE ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่อยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ใช้ในไทยกว่า 53 ล้านคน ได้รวบรวม 5 กลโกงที่เหล่ามิจฉาชีพใช้บนแพลตฟอร์ม LINE หรือแอบอ้างชื่อบริษัทฯ พร้อมข้อเท็จจริง ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ LINE เอาไว้เช็คก่อนเชื่อ ไม่เป็นเหยื่อกลโกง
- อ้างเป็นเจ้าหน้าที่จาก LINE ทางโทรศัพท์ ขู่ระงับบัญชี LINE
บริษัทฯ จะไม่มีการติดต่อผู้ใช้งานผ่านช่องทางโทรศัพท์ หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ไปพูดคุยถึงปัญหาการใช้งานต่างๆ อย่างแน่นอน โดยปกติจะติดต่อผ่านแบบฟอร์มสอบถาม contact-cc.line.me และอีเมลที่ให้กรอกในฟอร์มเท่านั้น และทาง LINE จะไม่ขอรหัสผ่านหรือข้อมูลส่วนตัวจากผู้ใช้งานในทุกกรณี การระงับบัญชีจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้ละเมิดกฎของแพลตฟอร์มและจะแจ้งเตือนผ่านระบบเท่านั้น
- SMS ชวนสมัครงานบริษัทต่างๆ ชวนเพิ่มเพื่อนบนLINE เพื่อติดต่อกรอกข้อมูลส่วนตัว
โดยปกติแล้ว บริษัทต่าง ๆ จะไม่นิยมประกาศรับสมัครงานผ่านช่องทาง SMS บนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะการเชิญชวนให้เพิ่มเพื่อนบน LINE เพื่อไปพูดคุย กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือให้คลิกลิงก์ใดๆ วิธีที่ดีที่สุด คือ ติดต่อไปยังบริษัทนั้นๆ โดยตรง หรือศึกษารายละเอียดบนเว็บไซต์ทางการของบริษัทนั้นก่อน
- ชวนลงทุนในบริษัทLINE หรือแจ้งว่าคุณเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล
ข้อนี้ สามารถจำขึ้นใจสั้นๆ ได้เลยว่า บริษัท LINEฯ ไม่มีนโยบายชักชวนลงทุนหุ้นในบริษัทเป็นอันขาด ขณะที่หากมีการติดต่อว่าเป็นผู้โชคดีว่าได้รับรางวัลจาก LINE อันดับแรกเลยผู้ใช้ควรตรวจสอบก่อนว่าได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมทางการตลาดใดๆ กับ LINE ก่อนหน้านี้หรือไม่ และตรวจสอบให้แน่ใจผ่านช่องทางทางการของบริการนั้นๆ อีกทีก็ไม่เสียหาย
- บัญชีทางการLINE ปลอม จากสารพัดแบรนด์ ลวงล้วงข้อมูล
เป็นอีกข้อที่รับมือได้ไม่ยาก เริ่มด้วยอย่าเพิ่งคลิกลิงก์หรือให้ข้อมูลใดๆ แม้จะเป็นแบรนด์หรือหน่วยงานชื่อดัง โดยเฉพาะธนาคาร จากนั้นสังเกตโล่สีน้ำเงิน หรือ โล่สีเขียว ที่อยู่หน้าชื่อบัญชี ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองโดย LINE ในกรณีที่เป็นโล่สีเทา แนะนำให้ตรวจสอบกับร้านค้าหรือหน่วยงานนั้นๆ ผ่านช่องทางอื่นอีกครั้ง ไม่หลงเชื่อจำนวนเพื่อนที่แสดงบนหน้าโปรไฟล์ เพราะสามารถปลอมแปลงได้
- ข้อความจากทั้งเพื่อนและไม่ใช่เพื่อน ขอยืมเงิน หรือข้อมูลส่วนตัว
มิจฉาชีพที่มาในแนวนี้ มักจะทักมาในรูปแบบเพื่อนบน LINE จากการลักลอบขโมยรหัสผ่านมาล็อกอิน (หรือไม่ใช่เพื่อนบน LINE ก็ได้เช่นกัน) เพิ่มเพื่อนมาทักขอยืมเงิน หรือ ขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมถึงส่งลิงก์แปลกปลอมมาให้ช่วยคลิก ผู้ใช้ LINE สามารถรับมือวิธีนี้ได้อย่างทันท่วงที ด้วยการไม่คลิกลิงก์นั้นเป็นอันขาด และติดต่อเจ้าตัวผ่านช่องทางอื่น เช่น โทรศัพท์ เพื่อย้ำให้มั่นใจว่าเป็นบุคคลเดียวกัน หากพบว่าไม่ใช่บุคคลนั้นจริง ให้กด ‘รายงาน’ แชทดังกล่าวได้เลย
นอกจากนี้ LINE ขอสรุป 5 ข้อแนะนำช่วยให้รู้เท่าทันและรับมือมิจฉาชีพบน LINE แบบง่ายๆ แต่ป้องกันได้ ดังนี้
- ไม่คลิกลิงก์ที่ไม่ทราบที่มา (หากยังไม่ชัวร์ อย่าเพิ่งคลิกเด็ดขาด)
- ไม่เผยรหัสผ่านบัญชีกับใคร โดยLINE จะไม่ขอรหัสผ่านส่วนตัวของท่านในทุกกรณี โดยเฉพาะผู้ที่ล็อกอิน LINE ผ่านอุปกรณ์อื่นบ่อยครั้ง ควรเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่อย่างสม่ำเสมอ
- ลงชื่อออกทุกครั้ง เมื่อใช้LINE ผ่านอุปกรณ์ที่ไม่ใช่เครื่องหลัก
- ตรวจสอบที่มาของผู้ติดต่อรายนั้นให้แน่ใจ เสียเวลาอีกนิด จะได้ไม่เสียหาย
- กดรายงานปัญหา (Report) บัญชีไม่พึงประสงค์ ได้ง่ายๆ ด้วยการกด ไอคอน 3 แถบบนห้องแชท> ตั้งค่าอื่นๆ > รายงานปัญหา > เลือกปัญหาที่ต้องการรายงาน > กด ‘รับทราบและส่ง’