3 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยการบริหารทีมงานให้แข็งแกร่ง ผลักดันองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

657
0
Share:

“ทรัพยากรมนุษย์” หรือ “คน” ถือเป็นสินทรัพย์ (Asset) ที่สำคัญ องค์กรจึงจำเป็นต้องจัดหาและรักษาบุคลากรอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

finbiz by ttb จึงได้นำหลักการบริหารบุคลากรจากประสบการณ์จริงจากธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งจากการอบรมหลักสูตร “LEAN for Sustainable Growth by ttb” รุ่นที่ 19 สำหรับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ (Healthcare) ที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์มาแบ่งปัน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ ซึ่งมีหลักสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่

1.สร้างวัฒนธรรมองค์กร
ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร สร้างให้เป็น “วัฒนธรรมองค์กร” (Organization Culture) โดยผู้บริหารต้องมีกลยุทธ์ วิสัยทัศน์ และค่านิยมองค์กรที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรในองค์กรได้เดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เนื่องจากในองค์กรหนึ่งย่อมมีบุคลากรในหลากหลายตำแหน่งหน้าที่ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากในการสั่งการให้ปฏิบัติตาม ดังนั้น ต้องเน้นสร้างการมีส่วนร่วม กระตุ้นให้บุคลากรมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการ นอกจากนี้ “คุณภาพ” เป็นเรื่องสำคัญ ในทุกธุรกิจกระบวนการต่างๆ ต้องดำเนินไปอย่างมีแผนงาน มีตัวชี้วัดตรวจสอบคุณภาพอย่างชัดเจน และต้องปรับปรุงพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ

2.ปรับโครงสร้างองค์กรแบบแนวราบ (Flat Organization Structure)
โครงสร้างองค์กรที่เป็นแบบลำดับชั้น (Hierarchical Structure) มีลำดับขั้นตอนการบังคับบัญชาค่อนข้างยาวนานกว่าประเด็นปัญหาจะขึ้นไปถึงระดับสูง ทำให้การดำเนินงานทุกอย่างอาจจะล่าช้าเกินไป ควรเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเป็นแบบแนวราบ (Flat Organization Structure) คือออกแบบให้การทำงานภายในองค์กรอยู่ในระดับเดียวกันมากที่สุด ซึ่งโครงสร้างองค์กรแบบแนวราบจะก่อให้เกิด Lean Process คือ การเปลี่ยนความสูญเปล่า ให้กลายเป็นคุณค่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของกระบวนการทำงาน ด้วยวิธีการดังนี้
• มอบอำนาจให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจในการตัดสินใจ โดยอบรมและพัฒนาศักยภาพให้หัวหน้าฝ่ายเป็นผู้นำที่เก่ง สามารถควบคุมดูแลบุคลากรในแผนก ทำให้กระบวนการทำงานกระชับ สั้น รวดเร็วขึ้น โดยสามารถตัดสินใจร่วมมือกับแผนกอื่นๆ ได้ ยกเว้นการตัดสินใจเรื่องใหญ่ที่ต้องเป็นผู้บริหารในระดับสูง
• เทคนิคการสื่อสารที่ดี เน้นการมองเห็นประโยชน์ร่วมกัน ในทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีแรงต้านเสมอ หัวหน้าหน่วยงานแต่ละคนจะต้องมีการสื่อสารที่ดีกับทีมงาน เมื่อนโยบายชัดเจน บุคลากรมองเห็นประโยชน์ร่วมกัน ก็จะช่วยกันทำอย่างเต็มใจ เมื่อมีปัญหาสามารถพูดคุยกันได้ งานจึงจะราบรื่น อย่างไรก็ตาม โครงสร้างแบบแนวราบก็ไม่ใช่โครงสร้างที่ดีที่สุด ต้องใช้การผสมผสานกันอย่างเหมาะสม

3.รักษาสมดุลเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
การดูแลบุคลากรในทุกส่วนต้องมีความเหมาะสม เครื่องมือและสถานที่ต้องพร้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ ในขณะที่ระบบงานหรือกระบวนการ ก็ต้องมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ องค์ประกอบทั้งหมดนี้ต้องรักษาให้เกิดความสมดุล ดังนี้
• เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน กระบวนการทำงานต้องปรับตัวตาม ในการดำเนินธุรกิจจะมีสถานการณ์ที่เข้ามากระทบต่อธุรกิจเป็นระยะ ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ก็มีความแตกต่างกัน กระบวนการทำงานต้องปรับตัวตามให้ทัน เช่น สถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่คาดคิด ดังนั้นการบริหารธุรกิจต้องตระหนักอยู่เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้ และบุคลากรต้องพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้เสมอ
• สายบังคับบัญชาที่สั้นช่วยให้ปรับตัวได้ไว เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ระบบงานต้องปรับตัวตาม แผนกและทีมงานที่มักจะได้รับผลกระทบเป็นส่วนแรกจะต้องมีโครงสร้างเป็นแบบแนวราบ เพื่อให้คิดและปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว
• เปลี่ยนจาก Functional HRM เป็น Strategic HRM สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องปรับกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล โดยมีแนวคิดว่าบุคลากรทุกคนเป็นสินทรัพย์ (Asset) อันมีค่าขององค์กร ที่ต้องมีการบำรุงรักษา ดังนั้น ต้องจัดระบบงาน จัดอัตรากำลังอย่างเหมาะสม หัวหน้างานต้องดูแลความสุขของพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีด้วย

การปรับสายงานให้สั้น พัฒนาหัวหน้างานให้มีศักยภาพและมีอำนาจในการตัดสินใจ รวมถึงต้องดูแลความสุขของพนักงานได้ งาน HR จึงไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของแผนกบุคคล แต่เป็นของหัวหน้างานที่ต้องดูแล และทุกฝ่ายในองค์กรที่จะต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง เพื่อให้สามารถเดินไปด้วยกันกับองค์กรได้อย่างมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืน

 

Share: