10 แนวโน้มแห่งอนาคต ของอุตสาหกรรมการกระจายสินค้าในทศวรรษหน้า
อุตสาหกรรมการกระจายสินค้ามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกันในตลาดโลกที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวล้ำหน้าไปอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ภาพรวมของการกระจายสินค้าก็กำลังเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทศวรรษหน้า สำหรับแนวโน้มและการคาดการณ์ที่คาดว่าจะกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมการกระจายสินค้า พร้อมกับช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวนำหน้าและประสบความสำเร็จในตลาดที่มีพลวัตในอนาคต 10 ประการ ได้แก่
1. ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบห่วงโซ่อุปทานอย่างสิ้นเชิง: การเพิ่มขึ้นของระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนโดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีส่วนในการปฏิวัติและปรับโฉมห่วงโซ่อุปทานอย่างมีนัยสำคัญ คลังสินค้าอัจฉริยะพร้อมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ยานยนต์อัตโนมัติ ระบบการเลือกสินค้าอัตโนมัติชั้นนำ และการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ขั้นสูง จะช่วยให้มีการจัดการสินค้าคงคลังที่เหมาะสม ซึ่งจะลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้อย่างน่าทึ่ง ดังนั้น การใช้ระบบการจัดการคลังสินค้า (WMS) ที่ดีที่สุดในระดับเดียวกันจึงมีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากระบบจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงที่สำคัญในการเชื่อมต่อระบบอัตโนมัติเข้ากับระบบการวางแผนทรัพยากรขององค์กร (ERP) ได้อย่างไร้อุปสรรค ช่วยให้การดำเนินงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
2. การใช้บิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ขั้นสูงเพื่อตัดสินใจ: เมื่อมองไปในอนาคต การกระจายสินค้าจะต้องพึ่งพาพลังมหาศาลของบิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ขั้นสูงเป็นอย่างมาก เพราะจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบของกระบวนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ธุรกิจที่มองการณ์ไกลจะใช้อัลกอริธึมการคาดการณ์และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพสูงในการตัดสินใจแบบใช้ข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อจัดการกับระดับสินค้าคงคลังให้เหมาะสม รวมทั้งใช้คาดการณ์รูปแบบความต้องการได้อย่างแม่นยำ และมอบประสบการณ์เฉพาะสำหรับลูกค้าแต่ละราย ดังนั้น เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือด้านข้อมูลอันล้ำค่าเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ผู้จัดจำหน่ายควรย้ายระบบ ERP ของตนไปยังระบบคลาวด์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของการวิเคราะห์ขั้นสูงและบิ๊กดาต้ามาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การปรับเปลี่ยนการจัดส่งระยะสุดท้าย (Last-mile delivery): Last-mile delivery กำลังเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการบุกเบิกรูปแบบการจัดส่งที่ล้ำสมัยเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เทคโนโลยีล้ำสมัยที่นำมาใช้งาน เช่น โดรน ยานยนต์อัตโนมัติ และหุ่นยนต์ส่งสินค้า กำลังกลายเป็นเรื่องปกติที่ปฏิวัติขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการจัดส่งด้วยความเร็วที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ให้ความคุ้มค่าคุ้มทุนเป็นเลิศ และความสะดวกสบายที่ไม่มีใครเทียบได้ เพราะผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะถูกนำส่งอย่างรวดเร็วถึงประตูบ้านของผู้บริโภค นอกจากนี้ เครือข่ายการจัดส่งแบบ crowd-sourced ซึ่งเป็นการรวมตัวกันทำงานของคนจำนวนมาก และแบบแลกเปลี่ยนเครือข่ายการจัดส่งร่วมกันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การจัดส่ง Last-mile มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และเป็นพลังที่โดดเด่นในการกระจายสินค้า
4. แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: เพื่อตอบสนองต่อความกังวลและความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผสานแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลย ธุรกิจที่มองการณ์ไกลมีการนำแนวคิดริเริ่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในเชิงรุก เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในกองยาน และการปรับปรุงเส้นทางโลจิสติกส์ให้เหมาะสมเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากดังนั้น บริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจะสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและตอบสนองต่อกลุ่มตลาด ที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และแนวปฏิบัติในการกระจายสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่กำลังเพิ่มขึ้นได้
5. ช่องทางการจำหน่ายตรงถึงผู้บริโภค (Direct-to-Consumer: D2C) จะเพิ่มขึ้น: การขายแบบ D2C มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง และไม่ต้องผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผู้ผลิตสามารถใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มที่ล้ำสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเชื่อมต่อโดยตรงกับผู้บริโภคได้อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประสบการณ์ส่วนบุคคล สร้างพลังให้กับกลยุทธ์การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และทำให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมการส่งข้อความของแบรนด์ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค และความภักดีของลูกค้าได้มากขึ้น
6. บล็อกเชนจะปฏิวัติการตรวจสอบย้อนกลับและความโปร่งใส: ศักยภาพในการปฏิวัติวงการของเทคโนโลยีบล็อกเชนภายในขอบเขตการจัดการห่วงโซ่อุปทานจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง พร้อมให้ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับและความโปร่งใสอย่างที่ไม่มีใครเทียบได้ ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger systems) ที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชน ช่วยให้สามารถติดตามและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้แบบเรียลไทม์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยเพิ่มความไว้วางใจและความรับผิดชอบภายในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมาก สามารถป้องกันการปลอมแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการฉ้อโกงลงได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับรับประกันความถูกต้องของสินค้า
7. ประสบการณ์ Hyper-Personalization และเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง: ภาพรวมของการกระจายสินค้าในอนาคตจะมีลักษณะที่เน้นการสร้างประสบการณ์ลูกค้าเป็นสำคัญ โดยใช้ Hyper-Personalization ที่มีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อน ธุรกิจที่ใช้การวิเคราะห์ขั้นสูง แมชชีนเลิร์นนิง และ AI จะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความชอบส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน พร้อมข้อเสนอตามความต้องการเฉพาะบุคคลและประสบการณ์ที่น่าจดจำ ซึ่งจะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและความภักดีต่อแบรนด์ที่ไม่มีใครเทียบได้
8. เทคโนโลยีโลกเสมือน Augmented Reality (AR) ที่จะเพิ่มประสบการณ์การรับชมผลิตภัณฑ์: AR เป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับการมองเห็นผลิตภัณฑ์แบบเสมือนจริง ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้บริโภค จากการที่อุปกรณ์รองรับ AR เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถลองใช้ผลิตภัณฑ์เสมือนก่อนตัดสินใจซื้อได้ เป็นการปฏิวัติประสบการณ์ในการชอปปิงออนไลน์ โดยลดระยะห่างระหว่างโลกกายภาพและโลกดิจิทัลให้เชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและความพึงพอใจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
9. การพิมพ์ 3 มิติช่วยให้การผลิตแบบกระจายศูนย์เป็นไปได้: การถือกำเนิดของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการกระจายสินค้าแบบดั้งเดิมโดยนำเสนอข้อดีมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยความสามารถที่โดดเด่นในการผลิตสินค้าในท้องถิ่น การผลิตตามความต้องการอย่างแม่นยำและการลดของเสียลงได้อย่างมาก ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายการผลิตแบบกระจายศูนย์เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ลดระยะเวลาในการผลิตสินค้าลงได้อย่างมาก และช่วยให้ธุรกิจสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ปรับให้เหมาะสมกับความต้องการและความชอบของผู้บริโภคแต่ละรายได้อย่างตรงจุด ซึ่งปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตและการกระจายสินค้าให้เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง
10. การผสานรวมความร่วมมือและระบบนิเวศ: ในขณะที่ภาพรวมของการกระจายสินค้ากำลังพัฒนา เราจะได้เห็นการทำงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นและการผสานรวมระบบนิเวศที่ไร้ขีดจำกัดได้อย่างเด่นชัด ธุรกิจที่มองการณ์ไกลต่างตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ การมีส่วนร่วมในการริเริ่มแบ่งปันข้อมูล และการส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในด้านที่สำคัญๆ เช่น โลจิสติกส์ การจัดการสินค้าคงคลัง และการดำเนินการตามคำสั่งซื้อ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานแบบครบวงจรเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจนำสินค้าออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ตลอดจนมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และมีความเป็นเลิศในการดำเนินงานที่ไม่มีใครเทียบได้
อนาคตของอุตสาหกรรมการกระจายสินค้าจะก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งและจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่จะพลิกโฉมวงการอย่างแน่นอน คุณจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ชุดเครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ใช้แข็งแกร่งพอที่จะรองรับเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ได้ และสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจคงความสามารถในการแข่งขันได้คือ จะต้องมีการใช้ระบบอัตโนมัติ ใช้บิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ พร้อมทั้งใช้แนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะการเปิดใจยอมรับเทรนด์เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้จัดจำหน่ายขายส่งสามารถปลดล็อกเพื่อเปิดรับโอกาสใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตลอดจนส่งมอบประสบการณ์ลูกค้าที่ยอดเยี่ยมได้ในทศวรรษหน้าและต่อไปในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ภาคโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมกำลังพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็วที่ขับเคลื่อนด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอุบัติใหม่มาใช้งาน ดัชนีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (LPI) ที่จัดทำโดยธนาคารโลกประจำปี 2566 ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จาก 139 ประเทศทั่วโลกและอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ Symposium 2023 ภายใต้แนวคิด “Sustainable Logistics : Smart and Green” ที่เกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อความยั่งยืน โดยมีธุรกิจกว่า 415 แบรนด์จาก 25 ประเทศเข้าร่วมงาน
โดยข้อมูลสำคัญที่ได้จากการประชุมพบว่า ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (LSPs) จำเป็นต้องปรับปรุงบริการให้ดียิ่งขึ้น ลงทุนในแพลตฟอร์มขั้นสูง และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเสริมการเชื่อมต่อกับลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นและเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะนี้อุตสาหกรรมต่างๆ กำลังเผชิญมาตรการทางการค้าที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งเป็นการเก็บภาษีเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้ามาในสหภาพยุโรป ที่ได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
ในช่วงแรก CBAM จะบังคับใช้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ 6 ประเภทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากในกระบวนการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นและอาจกระทบกับผู้ผลิตวัตถุดิบที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในยุโรป เพราะอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดหากไม่สามารถปรับตัวได้ และในอนาคตอันใกล้นี้ CBAM จะขยายครอบคลุมสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รวมถึงผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าในประเทศไทยจะต้องเริ่มปรับปรุงกระบวนการทำงาน ปรับเปลี่ยนวิธีการส่งสินค้าที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างความต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศต่อไป
บทความโดย เทอร์รี สมา, รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น, บริษัทอินฟอร์