“องค์กรเพียงไม่กี่แห่ง” ในไทยที่พร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
มีองค์กรในไทยเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มี ‘ความพร้อมเต็มที่’ (Mature) ในการรับมือกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ยุคใหม่ ตามที่ระบุไว้ในรายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cybersecurity Readiness Index) ประจำปี 2567” ของซิสโก้
รายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำปี 2567” ของซิสโก้ ได้รับการจัดทำขึ้นในยุคที่มีการเชื่อมต่อถึงกันอย่างหลากหลาย (hyperconnectivity) และสถานการณ์ภัยคุกคามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ บริษัทต่างๆ ยังคงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยเทคนิคที่แตกต่างมากมาย ตั้งแต่ฟิชชิ่งและแรนซัมแวร์ ไปจนถึงการโจมตีจากซัพพลายเชนและโซเชียล เอนจิเนียริ่ง ถึงแม้ว่าองค์กรต่างๆ จะมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจมตีเหล่านี้ แต่ก็ยังคงประสบปัญหาในการป้องกันภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีความซับซ้อนมากจนเกินไป เนื่องจากมีการติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมาก ก็ส่งผลให้องค์กรประสบความยากลำบาก
ปัญหาท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบกระจายในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลสามารถแพร่กระจายไปยังการให้บริการ อุปกรณ์ แอปพลิเคชั่น และผู้ใช้จำนวนมากอย่างไม่จำกัด อย่างไรก็ตาม 89% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามยังคงรู้สึกมั่นใจใน ‘ระดับปานกลางถึงระดับสูงมาก’ เกี่ยวกับความสามารถในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่าง ‘ความเชื่อมั่น’ และ ‘ความพร้อม’ นี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ อาจมีความมั่นใจที่ผิดเกี่ยวกับความสามารถของตนเองในการรับมือกับภัยคุกคาม และอาจไม่สามารถประเมินความรุนแรงที่แท้จริงของปัญหาท้าทายกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างถูกต้อง
รายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำปี 2567” ของซิสโก้: บริษัทที่ ‘ไม่เตรียมพร้อมและมีความมั่นใจมากเกินไป’ ต้องเผชิญและรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
รายงานดัชนีนี้ประเมินความพร้อมของบริษัทใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ระบบอัจฉริยะด้านข้อมูลบุคคล, ความยืดหยุ่นของเครือข่าย, ความน่าเชื่อถือของแมชชีน, ความแข็งแกร่งของคลาวด์ และการเสริมกำลังด้วย AI ซึ่งประกอบด้วยโซลูชั่นและฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้อง 31 รายการ โดยอิงจากการสำรวจความคิดเห็นแบบปกปิดสองทาง (Double-Blind) ของผู้บริหารฝ่ายรักษาความปลอดภัยและฝ่ายธุรกิจขององค์กรเอกชนมากกว่า 8,000 คนใน 30 ประเทศทั่วโลก โดยการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ดำเนินการโดยองค์กรอิสระ ผู้ตอบแบบสอบถามถูกขอให้ระบุว่ามีโซลูชั่นและฟีเจอร์ใดบ้างที่พวกเขาได้ติดตั้งใช้งาน รวมถึงระดับของการใช้งาน จากนั้นบริษัทต่างๆ ถูกแบ่งกลุ่มตามระดับความพร้อม 4 ระดับ ได้แก่ ระดับ Beginner (ระดับเริ่มต้น), Formative (ระดับสร้างฐานความพร้อม), Progressive (ระดับก้าวหน้า) และ Mature (ระดับพร้อมเต็มที่)
จีทู พาเทล, รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายระบบรักษาความปลอดภัยและการทำงานร่วมกันของซิสโก้ กล่าวว่า “เราไม่ควรละเลยความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่เกิดจากความมั่นใจเกินไปของเรา องค์กรในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในแพลตฟอร์มแบบครบวงจร และนำ AI มาใช้เพื่อการดำเนินการของแมชชีน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้องค์กรมีความได้เปรียบในการป้องกันมากขึ้น”
ข้อมูลที่พบจากผลการศึกษา
โดยรวมแล้ว จากผลการศึกษาพบว่า บริษัทในไทยมีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พร้อมรับมือกับภัยคุกคามในปัจจุบัน โดยองค์กรมากกว่าครึ่งหนึ่ง (54%) มีความพร้อมในระดับเริ่มต้น หรือระดับสร้างฐานของความพร้อม ขณะที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลก 3% มีระดับความพร้อมเต็มที่ นอกจากนั้น:
• เหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต: 65% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดการณ์ว่า เหตุการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้จะทำให้ธุรกิจของพวกเขาหยุดชะงักใน 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า การที่องค์กรขาดความพร้อมอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายที่มีมูลค่าสูงมาก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 51% กล่าวว่าพวกเขาประสบกับเหตุการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 69% ขององค์กรที่ได้รับผลกระทบระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่างน้อย 300,000 ดอลลาร์
• การติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดมากเกินไป: แนวทางแบบเดิมๆ ในการติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมากสำหรับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดย 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าการมีโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมากส่งผลให้ทีมทำงานได้ช้าลงในการตรวจจับการโจมตี การตอบสนอง และการกู้คืนระบบ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก โดย 75% ขององค์กรกล่าวว่าพวกเขาได้ติดตั้งโซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยแบบเฉพาะจุด 10 โซลูชั่นขึ้นไป ขณะที่ 35% มีอย่างน้อย 30 โซลูชั่น
• อุปกรณ์ที่ ‘ไม่ปลอดภัย’ และ ‘ไม่มีการจัดการ’ สร้างความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น: 94% ของบริษัทกล่าวว่าพนักงานของตนเข้าถึงแพลตฟอร์มของบริษัทจากอุปกรณ์ที่ไม่มีการจัดการ และ 42% ของบริษัทเหล่านั้นใช้เวลาหนึ่งในห้า (20%) ในการล็อกออนเข้าสู่ระบบเครือข่ายของบริษัทจากอุปกรณ์ที่ไม่มีการจัดการ นอกจากนี้ 26% รายงานว่าพนักงานมีการสลับไปมาระหว่างเครือข่ายต่างๆ อย่างน้อยหกเครือข่ายในหนึ่งสัปดาห์
• การขาดแคลนบุคลากรทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง: องค์กรต่างๆ ไม่สามารถพัฒนาด้านความปลอดภัยอย่างเต็มศักยภาพเนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ โดยบริษัท 91% เน้นย้ำว่าปัญหานี้นับเป็นเรื่องสำคัญ และที่จริงแล้ว บริษัท 43% พบว่าพวกเขายังคงขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มากกว่า 10 อัตราในช่วงที่มีการสำรวจความคิดเห็น
• การลงทุนด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต: บริษัทต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาท้าทายดังกล่าว และกำลังดำเนินการเพื่อยกระดับการป้องกัน โดย 65% มีแผนที่จะอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีครั้งใหญ่ใน 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 47% ที่วางแผนจะทำเช่นนั้นในปีที่แล้ว โดยองค์กรต่างๆ วางแผนที่จะอัปเกรดโซลูชั่นที่มีอยู่ (70%) ปรับใช้โซลูชั่นใหม่ (53%) และลงทุนในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI (61%) นอกจากนี้ เกือบทั้งหมด (99%) ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ใน 12 เดือนข้างหน้า และ 94% กล่าวว่างบประมาณของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10%
เพื่อเอาชนะปัญหาท้าทายเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการลงทุนที่สำคัญในระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่, การปรับใช้แนวทางแพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัย, การเสริมความยืดหยุ่นของเครือข่าย, การใช้งาน Gen AI อย่างเหมาะสม และเพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อลดช่องว่างของทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้
วีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และเมียนมาร์ กล่าวว่า “สถานการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอ รายงานดัชนีความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ล่าสุดของเราเปิดเผยว่า บริษัทในไทยเพียง 9% เท่านั้นที่มี ‘ความพร้อมอย่างเต็มที่’ ในการรับมือกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ยุคใหม่ ซึ่งลดลงจากปี 2566 ที่องค์กรมีความพร้อมอยู่ที่ 27% องค์กรธุรกิจในไทยจึงจำเป็นที่จะต้องปรับใช้แนวทางแพลตฟอร์มแบบหลายทาง (multi-pronged platform approach) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ตั้งแต่การลงทุนในมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ไปจนถึงการใช้ประโยชน์จาก Gen AI เพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ลดช่องว่างด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และวางรากฐานสำหรับการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ส่วนทั่วทั้งองค์กร”