ส่องอนาคต BPP กับก้าวสำคัญในสหรัฐฯ ผนึกพลัง 2 เท่า ด้วยโรงไฟฟ้าแฝด Temple I และ Temple II
เมื่อกล่าวถึงประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจและมีอัตราการใช้ไฟฟ้าระดับสูงในอันดับต้นๆ ของโลก คงหนีไม่พ้น “สหรัฐอเมริกา” แค่ในรัฐเท็กซัสที่มีประชากรประมาณ 30 ล้านคน แต่กลับมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าประเทศไทยทั้งประเทศเกือบ 2 เท่าเลยทีเดียว การมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก ก็หมายความว่าโอกาสของผู้ผลิตก็มีมากเช่นกัน ซึ่งต้องเป็นผู้ผลิตที่มีศักยภาพมากพอเพื่อรองรับต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ ไม่นานมานี้ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ดำเนินการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple l รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2564 ได้เข้าลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณติดกัน ทำให้ BPP กลายเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รวมกำลังผลิตราว 1,500 เมกะวัตต์ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง นับเป็นก้าวสำคัญของ BPP ในการต่อยอดการเติบโต รวมถึงเพิ่มโอกาสทำกำไรในระยะยาวจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter
“จากการที่ BPP เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้า Temple l ทำให้เราได้ศึกษาตลาดไฟฟ้าในรัฐเท็กซัสเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นและพบว่าเท็กซัสนั้นมีขนาดใหญ่และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ช่วงพีคอาจขึ้นไปได้ถึง 84,000 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 34,000 เมกะวัตต์ ทั้งที่ประชากรน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่งแต่การใช้ไฟฟ้ามีปริมาณมากกว่าเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว BPP เห็นโอกาสดังกล่าว จึงได้วางแผนลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ ซึ่งการที่เราได้โรงไฟฟ้า Temple ll มาเพิ่มเติมนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเพิ่มเมกะวัตต์ให้แก่พอร์ตโฟลิโอของ BPP เท่านั้น แต่ด้วยความที่โรงไฟฟ้า Temple l และ Temple ll นั้นอยู่ติดกัน ทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่สามารถบริหารต้นทุนต่อหน่วยได้ต่ำลงและสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น (Economies of Scale: EOS) ทั้งผนึกกำลังผลิตได้เป็น 2 เท่า พร้อมทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากการแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ต่างๆ อีกทั้งต้นทุนในการบริหารถูกลงเมื่อคิดเทียบกับการแยกบริหารสองโรงขนาดใหญ่ อย่างเช่นการมีทีมงานประจำและทีมบริหารที่ดูภาพรวมการทำงานและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งควบคู่ไปด้วยกัน หรือการมีเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับเป็นอุปกรณ์การซ่อมบำรุงและเป็นอุปกรณ์สำรองที่สามารถแบ่งปันกันได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางระหว่างโรงไฟฟ้าทั้งสองได้เพื่อขยายธุรกิจต่อยอดเพิ่มเติมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการทำแบตเตอรี่ หรือแม้แต่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งช่วงเวลาที่เราได้โรงไฟฟ้า Temple ll มา ยังเป็นช่วงเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อน หรือเรียกว่าเป็น High Season ในการใช้ไฟฟ้า อย่างปีที่แล้ว ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ตลาด ERCOT (The Electric Reliability Council of Texas) ช่วงฤดูอื่นๆ จะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง ส่วนช่วงฤดูร้อนมีปริมาณมากถึง 130 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมงหรือเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 7 ซึ่งจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูง จะส่งผลให้มีการเรียกจ่ายไฟในปริมาณมากขึ้นและเป็นโอกาสอันดีในการสร้างผลกำไรที่มากขึ้นอีกด้วย” พัฒนาศักดิ์ นักสอน Manager – Strategy and Business Development ผู้ดูแลการพัฒนาธุรกิจในสหรัฐฯ ของ BPP เผย
ตั้งแต่ BPP ได้เข้าบริหารจัดการโรงไฟฟ้า Temple l และ Temple ll บริษัทฯ ได้วาง 3 มาตรการเพิ่มโอกาสในการบริหารจัดการและการทำกำไรให้ทั้งสองโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย 1) Operation Excellence เน้นแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ต่างๆ 2) Strategic Trading Approach วางกลยุทธ์ซื้อขายไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการกำหนดราคาซื้อขายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และ 3) Hedging and Risk Management มีกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองออสตินและดัลลัส รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของประชากรและธุรกิจ จึงเป็นทำเลที่เหมาะอย่างยิ่งในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยการบริหารไฟฟ้าในรัฐเท็กซัสได้รับการดูแลโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อว่า ERCOT บริหารไฟฟ้าภายใต้รัฐอย่างเป็นเอกเทศในรูปแบบตลาดไฟฟ้าเสรีซึ่งเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ที่มีการเติบโตอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ โอกาสในการทำธุรกิจจึงมีมากกว่าแค่การผลิตและขายไฟฟ้า
“BPP วางกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานของทั้งสองโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดรับกัน มีประสิทธิภาพที่เอื้ออำนวยกัน พร้อมทั้งสร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น โดยมีแผนการจ่ายไฟให้โรงหนึ่งเน้นเป็น Base Load ในช่วงที่ความต้องการสูงเพื่อให้ได้กระแสเงินสดที่มั่นคง ขณะที่อีกโรงหนึ่งสามารถนำกระแสไฟฟ้าบางส่วนที่ผลิตได้มาหาโอกาสทำกำไรเพิ่มเติมในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบ Real Time เพื่อขายให้กับลูกค้าระดับครัวเรือน (Retail Customer) โดยในปัจจุบันเราได้เริ่มขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าครัวเรือนประมาณ 25,000 ราย และวางแผนขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งการที่เราเป็นทั้งผู้ผลิตและขายไฟฟ้าได้เอง ทำให้เราสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ พร้อมลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมต้นทุนการผลิตจากการมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการผลิตที่มากขึ้น รวมไปถึงกำหนดปริมาณการผลิตและกำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสมตามอุปสงค์อุปทานในตลาด ตลอดจนการมีไฟฟ้าส่งมอบแก่ผู้ซื้ออย่างแน่นอน ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นในการพัฒนาและการขยายห่วงโซ่คุณค่าเชิงธุรกิจผลิตไฟฟ้าในสหรัฐของ BPP และพร้อมรองรับโอกาสใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” พัฒนาศักดิ์ กล่าวเสริม
เมื่อกำลังผลิต ประสิทธิภาพ และทรัพยากรเพิ่มขึ้นเท่าตัว อีกทั้งการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่เติมเต็มห่วงโซ่คุณค่าของ BPP ในตลาดสหรัฐฯ ได้ครบวงจรยิ่งขึ้น สหรัฐฯ จึงถือเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์หลักที่ BPP จะเดินหน้าสร้างการเติบโตทางด้านธุรกิจในอนาคตต่อไป
ด้านกิรณ ลิมปพยอม CEO ผู้นำทัพ BPP ได้กล่าวตอกย้ำถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า “การได้มาทั้งโรงไฟฟ้า Temple l และ Temple ll นั้นเป็นบทพิสูจน์ถึงการมุ่งสร้าง Ecosystem หรือระบบนิเวศทางธุรกิจไฟฟ้าของ BPP ให้สมบูรณ์และแข็งแกร่ง โดยสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยี HELE ขนาดใหญ่ด้วยความรู้ความเข้าใจในกลไกของตลาดไฟฟ้าในสหรัฐฯ อีกทั้งเรายังมุ่งวางแผนการผลิตและจ่ายไฟ ตลอดจนการซื้อขายไฟจากโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งให้ต่างเสริมประสิทธิภาพต่อกันและกัน เพื่อโอกาสในการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดที่เพิ่มมากขึ้นกลับมายังบริษัทฯ อีกด้วย”