รายได้ภาคเกษตร 5 พืชหลัก ปี 2567 พลิกฟื้นแตะ 9 แสนล้านบาท ด้วยอานิสงส์ด้านราคา แม้ปริมาณผลผลิตจะลดลงจากภัยแล้ง แนะใช้เกษตรอัจฉริยะเพิ่มศักยภาพในการเติบโต
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดปี 2567 รายได้เกษตรพลิกฟื้นแตะ 9 แสนล้านบาท จาก 5 พืชเศรษฐกิจ (ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และยางพารา) ขยายตัวจากปีก่อน 8-10% อานิสงส์จากราคายางพาราและอ้อยที่ขยายตัวสูง แม้ว่าผลผลิตในภาพรวมจะลดลงจากปัญหาภัยแล้งด้วยปริมาณน้ำฝนที่น้อยในครึ่งแรกของปี ตลอดทั้งโรคระบาดในพืช พร้อมแนะให้ภาคเกษตรไทยเร่งยกระดับศักยภาพการผลิตผ่านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตลาดโลก
ภาคเกษตรนับว่าเป็นภาคที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากครัวเรือนในภาคเกษตรไทยมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกลับเผชิญความไม่แน่นอนในด้านรายได้ ด้วยปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาวะอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและศัตรูพืช ตลอดจนการแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา ภาคเกษตรไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง รวมไปถึงโรคระบาดในพืช ส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรของไทยลดลง โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ในปี 2567 ไทยก็ต้องเผชิญกับความผันผวนของสภาพอากาศอีกครั้งจากการเปลี่ยนผ่านเอลนีโญเข้าสู่ลานีญา
ttb analytics จึงถอดบทเรียนด้านผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านเอลนีโญและลานีญา ในช่วง ปี 2553, 2559 และ 2562 สู่การคาดการณ์ผลผลิตการเกษตรของไทยในปี 2567 ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมถึงประเมินรายได้ภาคเกษตร ซึ่งพบว่าในปี 2567 รายได้ภาคเกษตรใน 5 พืชหลักสำคัญจะมีมูลค่าอยู่ที่ 9.03-9.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8%-10% ด้วยแรงหนุนหลังการพลิกฟื้นของราคายางพาราและอ้อยเป็นหลัก ส่งผลให้รายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผลผลิตการเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องจากภัยแล้งตั้งแต่ปี 2566 จนถึงต้นปีนี้ แม้ว่าการเข้าสู่ลานีญาในช่วงปลายปีจะช่วยดันปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ทันต่อฤดูกาลเพาะปลูกในช่วงต้นปี โดยผลกระทบด้านรายได้แต่ละพืชเศรษฐกิจมีความแตกต่างกัน ttb analytics จึงแบ่งกลุ่มรายได้เกษตรกรดังนี้
1. กลุ่มสินค้าเกษตรที่รายได้เพิ่มขึ้นจากระดับราคาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ยางพาราและอ้อย แม้ผลผลิตลดลงเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ไม่เพียงพอ จากผลของภัยแล้งในปีก่อนส่งผลต่อผลผลิตที่ออกในปีปัจจุบัน ประกอบกับการระบาดของโรคใบร่วง ทำให้ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มลดลงจาก 4.71 ล้านตันเหลือ 4.67 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 0.85% เช่นเดียวกับอ้อยที่คาดว่าผลผลิตลดลงเหลือ 82 ล้านตัน จาก 89 ล้านตันลดลงจากปีก่อน 6-7% แต่ด้วยแรงหนุนจากระดับราคายางพาราและอ้อยที่เพิ่มขึ้น 38% และ 24% ตามลำดับ จึงช่วยชดเชยผลผลิตที่ลดลง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 37% เช่นเดียวกับอ้อยที่คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 15-17%
2. กลุ่มสินค้าเกษตรที่รายได้ทรงตัวจากระดับราคาที่เพิ่มขึ้น ช่วยชดเชยผลผลิตที่ลดลงได้บางส่วน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน จากผลกระทบสภาพอากาศร้อนและปริมาณน้ำไม่เพียงพอส่งผลให้ปาล์มน้ำมันมีการออกทะลายและน้ำหนักของทะลายปาล์มน้ำมันลดลง โดยคาดว่าการผลิตปาล์มน้ำมันจะหดตัวจาก 18.2 ล้านตันเหลือ 18.1 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 0.8% อย่างไรก็ดี แรงหนุนจากระดับราคาที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาที่ขยายตัวถึง 4% จากปีก่อนจะช่วยทดแทนรายได้ผลผลิตที่หายไป หนุนให้รายได้ของเกษตรกรปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยอยู่ที่ 3 %
3. กลุ่มสินค้าเกษตรที่รายได้ลดลงจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าผลผลิตที่หดตัวสูง ได้แก่ ข้าว และมันสำปะหลัง เนื่องจากฤดูกาลเพาะปลูกอยู่ในช่วงภัยแล้ง และพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เผชิญกับความเสี่ยงจากปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอ โดยคาดว่าผลผลิตข้าวในปี 2567 อยู่ที่ 30-31 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 5-9% เช่นเดียวกับมันสำปะหลังที่ต้องเผชิญกับปัญหาโรคใบด่าง ส่งผลให้ผลผลิตหดตัว 12-17% เหลือ 22-23.5 ล้านตัน จาก 26 ล้านตัน ขณะที่ราคาข้าวและมันสำปะหลังปรับเพิ่มขึ้นเพียง 3% และ 2% จากปีก่อน ทำให้ระดับราคาไม่เพียงพอชดเชยผลผลิตที่หดตัวสูง ทำให้รายได้จากมันสำปะหลัง คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนถึง 11-16% เช่นเดียวกับรายได้จากข้าวที่คาดว่าหดตัว 2-6%
โดยสรุป ปี 2567 นี้ แม้ว่ารายได้ภาคเกษตรจะขยายตัวแตะ 9 แสนล้านบาทบนทิศทางแนวโน้มราคาที่ขยายตัว ซึ่งจะช่วยชดเชยรายได้จากผลผลิตที่หายไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากเป็นไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ไทยสามารถควบคุมได้และควรเร่งทำคือการยกระดับและเพิ่มศักยภาพการผลิตผ่านการใช้เทคโนโลยีควบคุมการผลิตและคุณภาพ โดยเฉพาะในพืชที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น ข้าวและมันสำปะหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาผลผลิตต่อไร่ของพืชเกษตรไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันอย่างอินเดียและเวียดนาม ถือว่าไทยมีระดับที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง อาทิ ผลผลิตข้าวไทยอยู่ที่ 478 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เวียดนามและอินเดียอยู่ที่ 963 และ677 กิโลกรัมต่อไร่ เช่นเดียวกับมันสำปะหลังที่ไทยมีผลผลิต 3.4 ตันต่อไร่ ขณะที่อินเดียและเวียดนามมีผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3.2 ตันและ 5.8 ตันต่อไร่ หมายความว่าด้วยพื้นที่เพาะปลูกเท่ากัน เกษตรกรไทยกลับสร้างรายได้ที่น้อยกว่า สะท้อนถึงข้อจำกัดของภาคเกษตรไทยในด้านการบริหารจัดการ ทั้งต้นทุนการผลิตต่อขนาดพื้นที่ที่สูงกว่า ในขณะที่ราคาขายไม่แตกต่างจากประเทศคู่แข่ง แน่นอนว่าในอนาคตการแข่งขันภาคเกษตรจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิต (Smart Agriculture) ผ่านการควบคุมตั้งแต่การผลิต ต้นทุนและการดูแลรักษา ถือเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ช่วยให้ไทยยกระดับศักยภาพการผลิตได้
นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก การส่งเสริมการปลูกพืชเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ การส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้แก่เกษตร ตลอดทั้งการพัฒนากระบวนการเพาะปลูกเพื่อช่วยลดต้นทุนในระยะยาว เพื่อให้ภาคเกษตรไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเท่าเทียมประเทศอื่นได้ ซึ่งหากโครงสร้างภาคเกษตรมีความแข็งแกร่งตั้งแต่ภายใน ย่อมลดผลกระทบที่มาจากภายนอกได้ เป็นปัจจัยหนุนให้รายได้ภาคเกษตรไทยยังมีศักยภาพในเติบโตได้อย่างยั่งยืน