“ทีทีบี” สานต่อโครงการเพื่อสังคม มุ่งสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน ปลุกพลังอาสาสมัครร่วม “เปลี่ยน” ชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีบีบี มุ่งมั่นก้าวสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน เดินหน้าสานต่อโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมเปลี่ยนเพื่อชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน “fai-fah for Communities” รวมพลังอาสาสมัครทีทีบีนำทักษะและองค์ความรู้เข้าไปช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน ตามแนวคิด Make REAL Change ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรในการจุดประกายการ “ให้” คืนสู่ชุมชน โดยในปี 2567 มีอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวนกว่า 4,000 คน รวมจำนวน 23 โครงการ และตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 285 โครงการ
นางประภาศิริ โฆษิตธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวในงาน ttb Volunteer recognition day “ทีทีบีส่งเสริมให้พนักงานใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการทำงานอาสาสมัครมาต่อเนื่อง แม้ทุกคนจะมีงานยุ่ง แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและเด็กๆ โดยอย่างน้อยใน 1 ปีจะมี 1 วันที่สละเวลาให้กับงานอาสาสมัคร ซึ่งทำให้ได้รับพลังงานดีๆ กลับมา ขับเคลื่อนให้เราไปต่อได้มากกว่า 365 วัน ขอขอบคุณอาสาสมัครทีทีบีที่ร่วมกันสร้างความสุขส่งต่อการให้ โดยนำความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีไปช่วยเปลี่ยนชีวิตคนอื่น สร้างประโยชน์ให้ชาวชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ถือเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจทั้งของตัวเองและองค์กร”
นางสาวพิชญ์อานันต์ญา วัฒนะประภาวงศ์ อาสาสมัครทีทีบี โครงการเดินชิลล์ที่คิวรถเก่า ชุมชนย่อยที่ 8 ตลาดคิวรถเก่า พนัสนิคม-กรุงเทพฯ จ.ชลบุรี ซึ่งเข้าไปช่วยฟื้นฟูตลาดคิวรถเก่าให้กลับมาชีวิตอีกครั้ง กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โดยจับมือกับศิลปินท้องถิ่นช่วยปรับภูมิทัศน์ทำเป็นสตรีทอาร์ต เพื่อสร้างจุดเช็กอินถ่ายภาพดึงดูดคนให้มาท่องเที่ยวและจับจ่าย พร้อมทั้งทำประชาสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ตลาดเปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์มีคนมาเดินมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าเพิ่มขึ้นราว 10-20% นอกจากนี้ ยังเข้าไปให้ความรู้เรื่องการขายสินค้าออนไลน์ด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ โครงการนี้ได้จุดประกายให้ชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น
“เริ่มต้นเข้ามาเป็นอาสาสมัครทีทีบีเพราะเป็นหน้าที่ แต่ทำแล้วก็ติดใจ รู้สึกสนุกและมีความสุข จึงทำต่อเนื่องมา 7 โครงการแล้ว แม้งานจะยุ่งแต่วางแผนดีๆ ก่อนลงพื้นที่ก็สามารถจัดการได้ ซึ่งการทำงานอาสาสมัคร ส่วนมากคนอาจมองเราเป็นผู้ให้ แต่จริงๆ เราก็ได้สิ่งดีๆ กลับมาเช่นกัน ทั้งเรื่องการทำงานเป็นทีม ความสามัคคี ทำให้รู้จักคนมากขึ้น และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความสุขจากการให้ การได้เห็นรอยยิ้มของชาวชุมชน ทำให้ความเหนื่อยของเราเปลี่ยนมาเป็นความสุขได้ ขอบคุณธนาคารที่มีโครงการเพื่อสังคม เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำเพื่อคนอื่นด้วย ไม่ใช่เพื่อองค์กรหรือตัวเราเองเพียงอย่างเดียว”
อีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากนายณฐนนท์ อารัมภรัตน์ อาสาสมัครทีทีบี โครงการเพราะการให้ไม่สิ้นสุด มูลนิธิคริสเตียนเพื่อเด็กพิการ จ.นนทบุรี ซึ่งมีเป้าหมายต้องการช่วยให้มูลนิธิฯ เป็นที่รู้จักและมีผู้สนับสนุนทางการเงินมากขึ้น เพื่อให้มีรายรับเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นอาสาสมัครทีทีบีว่า ตอนแรกรู้สึกกดดันว่าจะมีความสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่ แต่พอคิดว่าต้องทำงานเป็นทีมและได้ช่วยเหลือสังคมก็ทำให้มีแรงสู้ ซึ่งเมื่อเจอกับปัญหาที่ท้าทายก็พบว่าการระดมสมองช่วยกันคิด ปัญหาใหญ่จะกลายเป็นเรื่องเล็กได้ ทำให้เริ่มสนุกและมีความสุข จึงทำโครงการที่มูลนิธิคริสเตียนเพื่อเด็กพิการต่อเนื่องถึง 2 ปี เพราะอยากสานต่อสิ่งที่ทำในโครงการปีแรก เพื่อให้โครงการพัฒนาไปถึงจุดที่มูลนิธิฯ สามารถดูแลตัวเองได้ดี
“เราไปช่วยเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ แนะนำเรื่องการขายสินค้าหารายได้ นำความสามารถของเด็กพิการมาสร้างงานศิลปะ รวมทั้งช่วยพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการดูแลเด็กพิการ ตอนนี้มูลนิธิฯ ได้ต่อยอดสิ่งที่เราเข้าไปช่วยกันเปลี่ยน จนสามารถพัฒนาองค์กรและสร้างงาน สร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งเราก็มีความภาคภูมิใจและมีความสุขไปด้วย นอกจากนี้ การทำงานอาสาทำให้เราได้สิ่งดีๆ อีกมากมาย เช่น รู้จักคนมากขึ้น ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาร่วมกัน เข้าใจการทำงานเป็นทีม การยอมรับและให้เกียรติคนอื่น และสิ่งสำคัญ คือ ได้เรียนรู้ว่าเราต้องเห็นคุณค่าของตัวเองก่อน จึงจะไปช่วยเหลือคนอื่นได้ เดิมคิดแค่เรื่องงาน แต่การได้ช่วยคนอื่นให้มีรอยยิ้มก็เป็นการสร้างพลังให้เราเหมือนกัน แม้จะเหนื่อยแต่คุ้มค่า กิจกรรมอาสาสมัครทีทีบีแบบนี้ดีมาก เพราะเพิ่มทักษะให้กับพนักงานด้วย และเพิ่มโอกาสในการตอบแทนสังคมได้มากขึ้น”
ปิดท้ายกับนางสาวชลลดา ตันธนสุทธิวงศ์ อาสาสมัครทีทีบี โครงการกำแพงแห่งการเริ่มต้น สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ กรุงเทพฯ เล่าถึงเป้าหมายของโครงการว่า ต้องการให้คนรู้จักบ้านเกร็ดตระการมากขึ้น เพื่อช่วยกลุ่มคนเปราะบางที่มาฝึกอาชีพ โดยการซื้อสินค้า หรือใช้บริการร้านกาแฟและร้านอาหาร จึงเข้าไปช่วยพัฒนาเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดีย และสร้างสติกเกอร์ไลน์ รวมทั้งปรับภูมิทัศน์ด้านนอก วาดภาพสร้างสีสันให้กำแพงรั้วของบ้านสะดุดตาผู้ที่ผ่านไปมา ทำให้บ้านเกร็ดฯ เป็นที่รู้จักและดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการร้านอาหารและร้านกาแฟเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบเชิงบวกเล็กๆ แต่ทุกคนที่ทำก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก เนื่องจากที่นี่ดูแลและสอนทักษะอาชีพให้กับกลุ่มคนที่ขาดโอกาสและเปราะบาง เพื่อให้พัฒนาตัวเอง มีโอกาสในการดำเนินชีวิตโดยไม่พึ่งพาคนอื่น
“อาสาสมัครทีทีบีเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ทำให้เรารู้จักเพื่อนในแผนกอื่น มีการแชร์ไอเดียใหม่ ๆ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ มากขึ้น รู้จักการแก้ปัญหาร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับคนภายนอกองค์กรหลากหลายกลุ่ม นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทักษะให้กับตัวเองมากขึ้น ทำให้กล้าคิด กล้าตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ได้ทำโครงการแรกไปแล้วรู้สึกภูมิใจมาก เพราะรู้สึกว่าเราสามารถสร้างสิ่งที่ดีขึ้นให้กับสังคมได้จริง หากมีโอกาสก็อยากทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และรู้สึกภูมิใจในองค์กรที่มีโครงการดีๆ เปิดโอกาสให้พนักงานไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม แม้เราจะไม่ได้ไปช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปต่อยอดได้ เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคต”
ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี มุ่งมั่นและตั้งใจเดินหน้าจุดประกายเยาวชนและชุมชน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ติดตามกิจกรรมดีๆ ต่อได้ที่ https://www.ttbfoundation.org