กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับเดลต้าประกาศผู้ชนะเลิศรางวัล Angel Fund for Startups พร้อมเงินสนับสนุน 5,000,000 บาท
บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม (MOI) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIProm) เป็นเจ้าภาพจัดงานประกาศรางวัล Delta Angel Fund for Startups 2023 นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้จัดงานอุตสาหกรรมแฟร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง 2 งานนี้จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของเดลต้า โดยเดลต้าได้มอบเงินรางวัลจำนวน 5,000,000 บาท ในการสนับสนุนองค์กรให้แก่ 10 ทีม และมอบเงินรางวัลจำนวน 1,000,000 บาท สำหรับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งให้แก่ทีม BioNext
ภายในงาน นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายแจ็คกี้ จาง ประธานบริษัทเดลต้า ประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีกับ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เดลต้าเห็นความก้าวหน้าทั้งในคุณภาพของทีมที่เข้าร่วมและความหลากหลายของธุรกิจ นี่จึงเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าโครงการ Delta x DIProm Angel Fund ถือว่าเป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับและนับถือสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพและธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ในประเทศไทย เดลต้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่สำคัญนี้” นายแจ็คกี้ จาง กล่าว
รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเดลต้าได้ร่วมกันมอบใบประกาศนียบัตรให้แก่สตาร์ตอัพ และเดลต้าได้มอบเงินรางวัลสนับสนุนให้แก่ผู้ชนะทั้งหมด 10 ทีม ทีมที่ชนะเลิศอันดับหนึ่งได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1,000,000 บาท และเงินรางวัลอื่นๆ ตั้งแต่ 850,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท
ในปีนี้ เดลต้าสนับสนุนเงินรางวัลทั้งหมด 5,000,000 บาท และมูลค่าเงินรางวัลของทีมต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ตั้งแต่ปี 2565 เดลต้าได้เพิ่มมูลค่าเงินรางวัลของแต่ละทีมเพื่อดึงดูดธุรกิจสตาร์ตอัพไทยให้การเข้าร่วมโครงการ Angel Fund มากขึ้น พร้อมทั้งคืนคุณค่าสู่ตลาดท้องถิ่นและสังคม
10 ทีม ที่ได้รับรางวัล Delta Angel Fund for Startup 2023 ได้แก่
1. รางวัลชนะเลิศอันดับ 1: ทีม BioNext
โครงการ: นวัตกรรมสิทธิบัตรสารเติมแต่งเพิ่มความคงตัวอาหารตามธรรมชาติด้วยวัสดุจากวุ้นมะพร้าวที่ถูกดัดแปลง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเผาไหม้
2. รางวัลที่ 2: ทีม PAPA PAPER
โครงการ: ผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษทนไฟ กันน้ำ ป้องกันเชื้อราและเหมาะสำหรับบรรจุภัณฑ์
3. รางวัลที่ 3: ทีม Brain Teazer
โครงการ: ระบบการผลิตพลาสติกแบบชีวภาพอัตโนมัติ เป็นการแปลงขยะจากอาหารให้เป็นโพลีเมอร์สำหรับพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งด้านการก่อสร้างและบรรจุภัณฑ์
4. รางวัลที่ 4: ทีม White Tiger
โครงการ: ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมผงจากถั่วลายเสือ ดัดแปลงเปลืองถั่วให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถั่วลายเสือเป็นถั่วที่เติบโตง่ายและไม่ทำลายพื้นที่ป่า อีกทั้งยังมีราคาถูก
5. รางวัลที่ 5: ทีม OneTenPlus
โครงการ: ระบบติดตามและเฝ้าระวังการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม เป็นระบบโมดูลาร์ท้องถิ่นที่สามารถปรับแต่งได้ ซึ่งบูรณาการเข้ากับระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม IoT
6. รางวัลที่ 6: ทีม Aquatrek Solution
โครงการ: เครื่องวารีบำบัดที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่นและได้รับการรับรองสำหรับสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ โดยสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดายผ่านแอปพลิเคชัน
7. รางวัลที่ 7: ทีม NOVA
โครงการ: ไมโครอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น พร้อมคุณสมบัติที่เทียบเคียงได้กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และสามารถบูรณาการโปรแกรมร่วมกับบุคคลที่สามได้ ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์ส่วนใหญ่
8. รางวัลที่ 8: ทีม SENOVATE AI
โครงการ: โซลูชันที่ใช้เซ็นเซอร์ IoT และ AI เพื่อติดตามวัว สำหรับตรวจเช็กสุขภาพและจัดการการสืบพันธุ์
9. รางวัลที่ 9: ทีม BrainXSolution
โครงการ: โซลูชันในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่บาดเจ็บทางสมองด้วยการจำลองระบบประสาท ซึ่งยังช่วยในการฟื้นฟูรยางค์ส่วนบน (upper limb) อีกด้วย โดยแพทย์สามารถใช้รักษาผู้ป่วยหลายรายพร้อมกันผ่านทางออนไลน์ได้
10. รางวัลที่ 10: ทีม Asta A
โครงการ: โซลูชันแบบครบวงจรสำหรับการเพาะปลูกสาหร่าย ตั้งแต่การออกแบบระบบเครื่องปฏิกรณ์และการผลิต (ระดับนำร่องไปจนถึงเชิงพาณิชย์) ไปจนถึงการคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เดลต้าได้สนับสนุนเหล่าทีมสตาร์ตอัพผ่านกองทุนนางฟ้าด้วยการฝึกอบรมด้านเทคนิคและธุรกิจเพื่อพัฒนาและขัดเกลาการนำเสนอโครงการของพวกเขาให้มีประสิทธิภาพในเชิงพาณิชย์ โดยในปี 2566 กิจกรรมของโครงการยังมีแคมป์ฝึกอบรมทางธุรกิจด้วยรูปแบบ 6 ขั้นตอนเชิงรุก ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมในแคมป์ ทีมต่างๆ ได้แข่งขันต่อในโครงการ Hackathon และ Pitching สองรอบ จนได้ผู้ชนะ 10 ทีมจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 45 ทีม ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการกองทุน พร้อมคะแนนรวมจากรอบ Hackathon และ Pitching
เดลต้าและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เปิดตัวโครงการ Angel Fund และร่วมกันให้ทุนแก่สตาร์ตอัพตั้งแต่ปี 2559 โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาผู้มีความสามารถในประเทศไทย และบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพในภาคอุตสาหกรรมนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งในปีนี้ การแข่งขันได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อเกี่ยวกับแบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ (BCG) และแนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ESG (Environment, Social, and Governance) ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยเศรษฐกิจสีเขียวรูปแบบใหม่เพื่อความยั่งยืน
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปี 2566 เดลต้าได้ให้การสนับสนุนเงินทุนมากกว่า 28 ล้านบาทกับทีมที่ชนะเลิศเกือบ 200 ทีม เพื่อสนับสนุนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอัจฉริยะ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไปใช้เชิงพาณิชย์ในตลาดประเทศไทย โดยโครงการกองทุนนางฟ้าสำหรับสตาร์ตอัพเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมในท้องถิ่นและการพัฒนาประเทศไทยตามนโยบาย 4.0