ไทยพาณิชย์เตรียมพร้อมสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อการปรับตัว หนุนผู้ประกอบการอัพเกรดธุรกิจรับเมกะเทรนด์

276
0
Share:

ธนาคารไทยพาณิชย์หนุนภาคธุรกิจเร่งเครื่องรับช่วงเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์โควิด-19 เตรียมสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (Transformation Loan) สนับสนุนเงินลงทุนเสริมศักยภาพธุรกิจตอบรับเมกะเทรนด์แห่งสังคมดิจิทัลและสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืนที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก ผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ ปลดล็อคทุกอุปสรรคให้ผู้ประกอบการบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ “สินเชื่อฟื้นฟู” โดยเพิ่มประเภท “สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อการปรับตัว” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับธุรกิจและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในระยะต่อไป เน้นการลงทุนเสริมศักยภาพใน 3 กลุ่ม ได้แก่ การปรับใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพธุรกิจ (Digital Technology) การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) และ การลงทุนในนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (Innovation) ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะสถาบันการเงินในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปกับภารกิจ 2050 Net Zero ด้วยการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกรูปแบบ จึงพร้อมขานรับแนวทาง ธปท. โดยจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจทุกประเภทที่ต้องการเตรียมความพร้อมให้แก่ธุรกิจตัวเอง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อบริบทใหม่ของการค้าโลกในปัจจุบัน

ภายใต้สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อการปรับตัว ธนาคารฯ ให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อปรับปรุงพัฒนาและเสริมศักยภาพธุรกิจ โดยผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญต่อการปรับตัวตามกรอบของ ธปท. ใน 3 กลุ่มนี้ ประกอบด้วย 1. กระแสดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Technology) 2. การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) และ 3. นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (Innovation) ด้วยวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (รวมวงเงินซอฟต์โลนและสินเชื่อฟื้นฟูทั้งหมด) ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา พร้อมได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของสัญญา ใช้หลักประกันเป็น อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก และ การค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) ประกอบการขอวงเงินสินเชื่อได้

นายกฤษณ์ กล่าวเสริมว่า “ผู้ประกอบการกำลังเผชิญความท้าทายรอบใหม่จากภาระต้นทุนการเงินจากดอกเบี้ยนโยบายในประเทศที่ปรับขึ้น ถึงแม้ว่าธนาคารฯ จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นก็ตาม สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมก้าวข้ามความท้าทายนี้ คือการปรับตัวทางธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระยะถัดไป การที่มีสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อการปรับตัว จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตัวเลือกทางด้านเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจ สร้างยอดขาย และลดต้นทุนได้ในระยะยาว ทั้งยังเป็นโอกาสปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเติบโตไปพร้อมกับสังคมได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”

อนึ่ง สำหรับโครงการสินเชื่อฟื้นฟู (Soft Loan) ภายใต้วงเงิน 250,000 ล้านของธปท.นั้น ธนาคารไทยพาณิชย์รายงานต่อธปท. (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2565) มีผู้ประกอบการทุกประเภทยื่นขอสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 7,851 ราย คิดเป็นวงเงินรวม 23,249 ล้านบาท

 

Share: