โรคจิตหลงผิด ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ

768
0
Share:

การที่เรามีความเชื่อหรือความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากความเชื่อหรือความคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องจริง อาจเข้าข่าย “โรคจิตหลงผิด” ซึ่งเป็นภัยเงียบที่รุนแรง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองปกติดี จึงไม่มองหาหรือต้องการความช่วยเหลือ และไม่ได้รับการรักษาในที่สุด

 

 

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคจิตหลงผิด (Delusional Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางความคิด มีความเชื่อที่ผิดไปจากความเป็นจริงเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน โดยพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอากาประสาทหลอนเด่นชัดเหมือนผู้ป่วยโรคจิตเภท

สาเหตุของการเกิดโรคจิตหลงผิดไม่ได้มีการระบุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามักเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคจิตเภทหรือโรคทางจิตเวชบางชนิด ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น, ปัจจัยด้านชีวภาพ เป็นความผิดปกติของสมอง ระบบสื่อประสาท หรือสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลทำให้เกิดอาการหลงผิดได้, ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม เชื่อว่าการเลี้ยงดูและประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก อาจส่งผลให้มีการใช้กลไกทางจิตที่ทำให้เกิดอาการตามมา นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ที่มีความเครียดสูง หรือได้รับความกดดันจากสภาวะทางสังคมสูงเช่นกัน

5 ประเภท โรคจิตหลงผิด
1. Erotomanic type คือการหลงผิดคิดว่ามีคนมาหลงรักตัวเอง โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา นักร้อง เป็นความรักที่คิดไปเองคนเดียว บุคคลเหล่านั้นไม่ได้รู้เรื่องด้วย

2. Grandiose type หรือ ประเภทหลงคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ คือการหลงผิดคิดว่าตัวเองมีอำนาจ เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเป็นคนสนิทเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ มีพรสวรรค์หรือมีพลังวิเศษบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้

3. Jealous type หรือ ประเภทหึงหวง คือการหลงผิดว่าคนรักของตัวเองกำลังนอกใจ ไม่ซื่อสัตย์ โดยไม่มีหลักฐานหรือเหตุผล

4. Persecutory type หรือ ประเภทหวาดระแวง คือการหลงผิดคิดว่าจะมีคนมาทำร้าย กลั่นแกล้งอยู่ตลอดเวลา อาจหลงผิดไปไกลจนถึงขั้นไปแจ้งความดำเนินคดีผู้อื่นทั้งๆ ที่ตัวเองเข้าใจผิดไปเอง

5. Somatic type หรือ ประเภทเจ็บป่วยจากจิตสั่ง คือการหลงผิดเกี่ยวกับร่างกายหรือรูปร่างของตัวเอง เช่น คิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไรบางอย่าง แต่แพทย์ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ หรือ คิดว่าตัวเองมีกลิ่นเหม็นตลอดเวลาทั้งๆ ที่ปกติดี

ด้วยความที่ผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดมักคิดว่าตัวเองปกติดี จึงยากที่จะทำให้ตัวผู้ป่วยเข้ารับการช่วยเหลือหรือเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่คนใกล้ชิดหรือครอบครัวก็ไม่ควรละเลยและปล่อยให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคต่อไปเรื่อยๆ ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เข้าใจ และรับฟังสิ่งที่ผู้ป่วยคิดโดยไม่โต้แย้ง แต่ก็ไม่สนับสนุนความหลงผิดนั้น รวมถึงให้กำลังใจผู้ป่วยหากมีความเครียดหรือมีอารมณ์รุนแรงที่เป็นผลมาจากความหลงผิดนั้น

เมื่อผู้ป่วยไว้วางใจคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดแล้ว แนะนำให้พามาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น การรับประทานยา หรือการทำจิตบำบัดเพื่อแก้ไขอาการและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น มองเห็นความเป็นจริงที่เป็นไปตามความจริงมากขึ้น รวมถึงช่วยปรับความคิดและพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้กลับมาดีดังเดิม

ทั้งนี้ โอกาสหายของโรคจิตหลงผิดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ มักมีอาการดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

Share: