เจาะแนวคิด Learn to Earn ในงานด้านศิลปะ ผ่านมุมมองของรุ่นพี่ยุวศิลปินไทย ผู้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่เลือกแล้ว

41
0
Share:

มูลนิธิเอสซีจี สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรู้จักและเข้าใจถึงแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด ด้วยการนำทักษะที่มีทั้ง Hard Skill และ Soft Skill มาใช้ในแต่ละโอกาส เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ให้การสนับสนุนและต่อยอดความรู้ความสามารถของเด็กและเยาวชนไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในทุกด้าน โดยเฉพาะการเรียนรู้และการพัฒนาที่จะต้องทำตลอดชีวิต เพื่อที่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลา

 

 

ตลอด 20 ปีที่ที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจี ได้ส่งเสริมและต่อยอดเยาวชนผ่านเวทีศิลปะ Young Thai Artist Award หรือ โครงการยุวศิลปินไทย หนึ่งในเวทีด้านศิลปะที่ใหญ่เวทีหนึ่งของประเทศไทย ในแต่ละปีจะมีศิลปินรุ่นใหม่ที่ส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลมากถึง 6 สาขาของงานศิลปะ ซึ่งการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้นจะสอดคล้องไปกับประสบการณ์ของศิลปินผู้สร้างชิ้นงาน เพราะศิลปะคือการเดินทางของชีวิต ศิลปินจะสร้างงานจากประสบการณ์ชีวิตที่เป็นความชอบหรือความในใจ ซึ่งผลงานที่แสดงออกมาจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของศิลปินเจ้าของผลงานนั้น นอกจากจะส่งเสริมสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นการตอกย้ำถึงแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอดของศิลปินผู้สร้างผลงานแต่ละคน ที่ได้ learn แล้ว earn จนชีวิตของพวกเขาก้าวสู่ความสำเร็จ นับเป็นโอกาสดีที่เราได้พูดคุยกับรุ่นพี่ศิลปินเจ้าของรางวัลยุวศิลปินไทย (Young Thai Artist Award) ที่จะมาบอกเล่าถึงที่มาของความสำเร็จในวันนี้

อนุชา บุญยะวรรธนะ เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ ปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดโครงการ Young Thai Artist Award จากผลงาน “ตามสายน้ำ” เล่าว่า การทำงานในวงการภาพยนตร์นั้น จะต้องการบุคลากรที่มีหลายทักษะที่จำเป็น ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะของการทำงานด้านนี้ เช่น ทักษะการสร้างสรรค์ด้านภาพ แต่งหน้า ทำเสื้อผ้า ทำฉาก รวมถึงการจัดการ นอกจากจะมีทักษะเฉพาะนี้แล้ว ยังต้องมีการพัฒนาทักษะนั้นรวมทั้งต้องหมั่นอัปเดต อยู่ตลอดเวลา นับเป็นความโชคดีที่มีหลายหน่วยงานจัดหลักสูตรเกี่ยวกับงานในวงการภาพยนตร์ เพื่อให้คนในวงการสามารถไป upskill หรือ reskill เพื่อพัฒนาฝีมือได้ สำหรับตัวเองนั้นนอกจากการฝึกฝนและพัฒนาแล้ว ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด ความชอบ และพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าในอนาคต เพื่อที่จะสร้างภาพยนตร์ให้ตรงใจกลุ่มนี้ได้มากขึ้น

“การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญมาก ตัวเองทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะในวงการภาพยนตร์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจึงต้องตามให้ทัน และยังต้องศึกษาว่าคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นตลาดของเราในอนาคต รับสื่อแบบไหน เล่นแอปพลิเคชันอะไร ต้องเรียนรู้เพื่อหาทางสื่อสารได้ตรงใจ เพราะเมื่อเราเข้าใจพฤติกรรมและแนวคิดของพวกเขาก็จะง่ายสำหรับเราเมื่อจะต้องผลิตภาพยนตร์สำหรับคนกลุ่มนี้ สำหรับการเข้ามาในวงการนี้ของตัวเองนั้น ช่วงเรียนมัธยมและช่วงเรียนปริญญาตรีที่นิเทศ จุฬาฯ คือช่วงการค้นหาตัวตน ด้วยการลองทำอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อค้นหาสิ่งที่ทำได้ดีและคนชอบ ได้ไปลองหลายอย่าง ทั้งเรียนร้องเพลง ฝึกสอนการแสดง สุดท้ายก็พบว่าการกำกับภาพยนตร์คือสิ่งที่ทำแล้วมีคนชอบมากที่สุด จึงได้ต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพในทุกวันนี้และก็อยู่ในสายงานนี้มาตลอดตั้งแต่เรียนจบ ส่วนตัวแล้วมองว่าหากไม่ได้ลงมือทำก็จะไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่าเราทำอะไรได้บ้างหรือทำอะไรได้ดี ซึ่งช่วงที่กำลังเรียนอยู่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะค้นหาตัวเราเองได้ว่าเราทำอะไรได้ดี”

สำหรับรางวัล Young Thai Artist Award ที่ได้รับในปี 2547 อนุชามองว่ามีผลต่อชีวิตของตนเองในทุกวันนี้ เพราะรางวัลที่ได้รับทำให้มีความมั่นใจในผลงานที่ทำมากขึ้น เปรียบเสมือนเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะบอกว่าสิ่งที่ทำไปมีคนชอบ การ Earn ความสำเร็จในทุกวันนี้ เกิดจากการ Learn ว่างานแบบไหนที่จะได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบ เพื่อจะได้นำสไตล์หรือองค์ประกอบของชิ้นงานที่ได้รับรางวัลหรือได้รับคำชม มาพัฒนาต่อยอดกับผลงานชิ้นต่อๆ ไปในอนาคต

ปัจจุบัน อนุชา เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานหลากหลาย และยังเป็นเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 28 (ปี 2561) จากผลงานภาพยนตร์เรื่อง “มะลิลา” ยังได้ฝากข้อคิดและคำแนะนำดีๆ มาถึงน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเข้าวงการภาพยนตร์ว่าต้องเริ่มจากการดูหนังที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการเสพศิลปะสาขาอื่นๆ จากนั้นลองสร้างผลงานออกมา ซึ่งปัจจุบันมีหลายเวทีที่เปิดโอกาสให้ได้เยาวชนได้แสดงผลงาน เพราะการมีโอกาสได้แสดงผลงานจะทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนว่าผลงานที่สร้างขึ้นมานั้นตรงใจตลาดหรือไม่ รวมถึงคอมเมนท์ที่ได้รับจะเป็นกระจกเงาสะท้อนเพื่อให้นำกลับมาปรับปรุงและพัฒนางานต่อไปได้ด้วย

ลำพู กันเสนาะ จิตรกรผู้โด่งดังจากงานจิตรกรรมล้อเลียนแนวหัวโต เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะสองมิติ Young Thai Artist Award ปี 2549 จากผลงาน “นางสาวภาพยนตร์” เล่าว่าภาพในหัวของการทำงานด้านศิลปะของตนเองนั้นเริ่มต้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนอายุ 15 เพราะงานศิลปะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ตนเองลงมือทำได้ ทั้งความคิดสร้างสรรค์และการถ่ายทอดความคิดนั้นผ่านภาพวาดให้คนรอบข้างเข้าใจได้ อย่างไรก็ดีตนเองมั่นใจว่าไม่ใช่คนที่มีพรสวรรค์ด้านงานศิลปะ แต่เป็นเพราะความตั้งใจมุ่งมั่นและลงมือทำอย่างจริงจัง จนสามารถทำงานศิลปะออกมาได้ดี ส่งผลให้เป็นตนเองในวันนี้ ลำพูเชื่อว่าการมีพรสวรรค์เปรียบเสมือนมีต้นทุนที่ดี แต่คนที่จะมีกำไรได้ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจลงมือทำอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกันกับแนวคิดของ Learn to Earn ที่ส่งเสริมให้ใช้ทุกทักษะที่มี โดยเฉพาะทักษะที่มีความถนัด ผสานกับความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

“ตัวเองไม่ใช่คนเรียนเก่ง ไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านงานศิลปะมาก่อนเลย แต่มองว่าศิลปะคือสิ่งสุดท้ายที่ทำได้ จึงเลือกที่จะทำงานด้านศิลปะ เมื่อตัดสินใจแล้วก็มุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝน ลงมือทำ จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของตน และยังทำให้ตนได้เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แต่ต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายาม ทุกครั้งที่ลงมือทำไม่เคยมองว่าสิ่งที่กำลังทำเป็นเรื่องยาก แต่จะคิดเสมอว่าหากคนบนโลกทำได้ ตัวเราก็ต้องทำได้เช่นกัน เมื่อทำได้ก็มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำและไม่ทิ้งสิ่งที่ทำ เพราะมองว่ากว่าจะสร้างมาได้ ต้องแลกกับอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งเวลา ความทุ่มเท และเชื่อว่าเพราะความมุ่งมั่นที่มีมาโดยตลอด เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ได้”

ลำพูมองว่าคนรุ่นใหม่ในโลกปัจจุบันนับว่ามีความโชคดีเพราะมีโอกาสมากกว่าในยุคของตนเอง ทำให้มีโอกาสที่จะต่อยอดสร้างงานศิลปะเพื่อผลักดันให้ชีวิตก้าวไปได้ไกลมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียแทรกอยู่เพราะโอกาสที่มีมาก ทำให้ความพยายามลดน้อยลง และขาดความทะเยอทะยานหรือมุ่งมั่นที่จะทำอะไรให้เต็มที่ เกิดความท้อแท้ได้ง่าย และจะเลิกราไปหากสิ่งที่ทำนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ยุคสมัยของตนเองทางเลือกหรือโอกาสมีจำกัด จึงต้องมุมานะพยายามและทำอย่างเต็มที่เพื่อให้ประสบความสำเร็จ

นอกจากรางวัลยอดเยี่ยมยุวศิลปินไทยแล้ว ลำพูยังเป็นเจ้าของรางวัลทางศิลปะอีกหลายเวที จากประสบการณ์ที่ผ่านพบมา ได้สอนให้เธอได้เรียนรู้ว่าไม่มีความสำเร็จใดได้มาแบบง่ายๆ หากไม่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะลงมือทำอย่างจริงจัง สิ่งที่เธอได้ earn จากการ learn ดังกล่าว ทำให้ทุกวันนี้เธอคือศิลปินที่ใช้เวลาผลิตชิ้นงานศิลปะกับสตูดิโอส่วนตัวที่อัมพวา และมีชีวิตที่ยืนอยู่บนเส้นชัยของความสำเร็จในเส้นทางที่เลือกไว้ อย่างแท้จริง

นอกจากอนุชาและลำพูแล้ว ยังมีต้นแบบของยุวศิลปินไทยรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางอาชีพศิลปินอีกหลายราย ที่เด็ก เยาวชน และผู้สนใจ สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการ Learn ที่ทำให้พวกเขา Earn ได้ในทุกวันนี้ ที่บอดร์ดนิทรรศการ 20 Shades of Art ในงานนิทรรศการYoung Thai Artist Award 2024 ณ ห้อง New Gen Space : Space for All Generations โดยมูลนิธิเอสซีจี ตั้งอยู่บนชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งงานนิทรรศการนี้จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2567 นี้ ผู้สนใจดูรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ เพิ่มเติมได้ที่ www.scgfoundation.org เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN และ TIKTOK: LEARNtoEARN
#LearntoEarn #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #รุ่นนี้ต้องรอด #มูลนิธิเอสซีจี

Share: