ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนาที่ยั่งยืน ควรหนุน “ชาวนา” เปลี่ยนแปลงเป็น “ผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่” พร้อมกับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐ

254
0
Share:

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของชาวนา บนเงื่อนไขและข้อจำกัดในปัจจุบันยากที่จะยกระดับให้ดีขึ้น เร้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งชาวนาเองที่ต้องพร้อมปรับตัว ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน รวมถึงเน้นการยกระดับภาคเกษตรในภาพรวมให้ไทยมีการปฏิวัติทางการเกษตรให้มีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

ข้าวไทยเป็นพืชที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นแหล่งอาชีพหลักและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นอาหารหลักของคนไทย อีกทั้งยังมีความสำคัญในฐานะพืชเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 7 แสนล้านบาท รวมถึงเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 1.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของมูลค่าสินค้ากสิกรรมส่งออก ซึ่งถือว่ามากที่สุดของไทย อย่างไรก็ตาม แม้ข้าวจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากและสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่ชาวนาในฐานะที่เป็นผู้ผลิตกลับมีข้อจำกัดของคุณภาพชีวิต สะท้อนผ่านข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ระบุว่ารายได้ภาคเกษตรของไทยปี 2566 อยู่ที่ 230,000 บาท และเมื่อหักรายจ่ายแล้วจะเหลือรายได้คงเหลือก่อนชำระหนี้อยู่ที่ 82,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับหนี้สินของเกษตรกรต่อครัวเรือนอยู่ที่ 243,000 บาท สะท้อนถึงภาระหนี้สินมากกว่ารายได้ที่หาได้ ปัญหาเรื่องหนี้ก็คงจะไม่สามารถบรรเทาเบาบางลง โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาที่เป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้กลุ่มชาวนาเป็นกลุ่มที่ยังเผชิญกับปัญหารายได้ไม่ครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่มีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ เช่น ปุ๋ย สภาพภูมิอากาศ และราคาขาย ทั้งนี้ ttb analytics ได้ประเมินผลตอบแทนซึ่งหมายถึงรายได้หลังหักต้นทุนจากการปลูกข้าวในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีผลตอบแทนเพียง 1,400-2,400 บาทต่อไร่ (ขึ้นอยู่กับมีพื้นที่ทำนาในครอบครองหรือไม่) ซึ่งหากมีการถือครองที่ดิน 20 ไร่ในเขตชลประทาน ก็ยังได้รับผลตอบแทนเพียง 96,000 บาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 หากมองถึงสถานการณ์ที่กดดันผลตอบแทนของชาวนาอาจเริ่มเบาบางจากภาวะต้นทุนปุ๋ยที่มีแนวโน้มปรับลดลง โดยสถานการณ์คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2568 จากราคาผลผลิตที่คาดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและปริมาณฝนที่คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการเพาะปลูกปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,800-2,800 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ด้วยผลตอบแทนดังกล่าวที่แม้อยู่บนเงื่อนไขที่ดีทั้งระดับราคาผลผลิต ปริมาณฝนที่เหมาะกับการเพาะปลูก รวมถึงต้นทุนการเพาะปลูกที่ทุเลาเบาบางลง แต่เมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานนอกภาคเกษตรตามข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ 187,000 บาทต่อปี ซึ่งถ้าชาวนาอยากได้ผลตอบแทนเทียบเท่าจำนวนดังกล่าวต้องถือครองที่ดินในเขตชลประทานกว่า 52 ไร่ (กรณีมีค่าเช่านา) หรือ 34 ไร่ (กรณีมีที่นาเป็นของตนเอง) ซึ่งโดยค่าเฉลี่ยการถือครองที่ดินของชาวนาพบว่ามีการถือเฉลี่ยราว 10-20 ไร่ อันสะท้อนถึงภาวะทรัพยากรที่มีอยู่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอให้ชีวิตทางการเงินของชาวนาไทยหลุดพ้นจากแรงกดดันได้ ttb analytics จึงมีมุมมองบนเงื่อนไขและข้อจำกัดในปัจจุบัน การยกระดับความเป็นอยู่ชาวนาเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นหากไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งชาวนาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงมีข้อเสนอแนะไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนา ดังต่อไปนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตร (Enhancing Agricultural Productivity) : จากข้อเท็จจริงที่ไทยยังมีการเพาะปลูกข้าวโดยมีประสิทธิภาพต่ำ สะท้อนผ่านข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ที่ชี้ว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ยของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย 13% และเมื่อเทียบกับเวียดนาม และจีน พบไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่า 48% และ 52% ตามลำดับ ส่งผลให้ไทยมีความจำเป็นที่ภาครัฐควรเร่งนำเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้ (Smart Agriculture) ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีด้านกระบวนการเพาะปลูก เช่น การปรับพื้นที่ดิน ระบบหยดน้ำ และการใช้โดรน สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้ชาวนาประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงลง 7.3%% ลดปริมาณการใช้น้ำได้ 4% และช่วยเพิ่มผลผลิตขึ้นอีก 4% รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เพื่อปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพาะปลูก
2. การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Maximizing Land Utilization) : จากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ถือครองที่ชาวนาส่วนใหญ่ถือครองที่ดินในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่งผลให้อาจมีข้อจำกัดในการเพาะปลูกนอกฤดูกาลโดยเฉพาะในช่วงที่เจอภัยแล้ง ดังนั้น การพิจารณาการปลูกพืชทดแทนหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เช่น ข้าวสาลี ที่เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าวเจ้าและข้าวหอมถึง 2-3 เท่า อาจเป็นทางเลือกของชาวนาที่มีนานอกเขตชลประทานควรพิจารณาเพื่อเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ รวมถึงอาจหันไปจับตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น การเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ตอบโจทย์กระแสคนรักสุขภาพในปัจจุบัน และมีราคาขายข้าวเปลือกสูงกว่าข้าวทั่วไปที่ประมาณ 20-50% อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับชาวนา
3. ยกระดับชาวนาสู่ผู้ประกอบการ (From Farmers to Entrepreneurs) : ภาครัฐควรเพิ่มการสนับสนุนและให้ความรู้เพื่อยกระดับชาวนาที่มีศักยภาพและความพร้อม เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้มากขึ้นจากการขยับไปสู่สินค้าขั้นสุดท้าย จากเดิมที่ได้รับกำไรเป็นสัดส่วนจากราคาสินค้าขั้นกลางที่เป็นเพียงวัตถุดิบ รวมถึงให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องช่องทางจำหน่าย ที่ปัจจุบันการขายสินค้าทางการเกษตรมีความง่ายและสะดวกกว่าในอดีต ผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างไร้พรมแดน และสามารถจัดส่งสินค้าผ่านผู้ให้บริการขนส่ง (Third Party Logistics) ที่มีพื้นที่บริการครอบคลุมทั่วประเทศ

โดยสรุป การแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ที่ดีของชาวนาจะเป็นเรื่องที่ยาก หากยังอยู่บนข้อจำกัดและเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ควรต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เริ่มจากชาวนาต้องยอมปรับเพื่อเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีช่วยมากขึ้น ลดความเป็นอัตตาเรื่องการเพาะปลูกที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และเปิดรับหลักการที่เป็นสากล รวมถึงแนวทางแก้ไขที่กล่าวไว้ข้างต้น และชาวนาเองก็ไม่อาจทำได้หากขาดแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้ความรู้ รวมถึงจัดหาเงินทุน ความช่วยเหลือต่างๆ ที่เหมาะสมกับการยกระดับ ทั้งนี้ เพื่อให้การยกระดับภาคเกษตรไทยให้มีการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิวัติเขียวอย่างเป็นรูปธรรม (Green Revolution)” ซึ่งมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว

Share: