ถอดบทเรียนความสำเร็จ สร้างการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล “เจมาร์ท กรุ๊ป” ด้วย “DX” ที่เป็นมากกว่า  “Digital Transformation”

671
0
Share:

แม้ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ธุรกิจต่างตื่นตัวกับ “Digital Transformation” เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้อยู่รอด และยั่งยืน จากกระแสดิจิทัลดิสรัปชัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับทุกภาคส่วนขององค์กร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่รากฐานไปจนถึงกระบวนการส่งมอบสินค้า และบริการให้ลูกค้า เพื่อให้เข้ากับยุค 4.0 ตอบสนองความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายคนสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อน จนทำให้ไม่สามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างแท้จริง

หากพูดถึงคำว่า “Digital Transformation” คนส่วนใหญ่มักคิดถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร แต่การจะทำ Digital Transformation ได้สำเร็จ จำเป็นต้องมองลึกกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการ และกรอบแนวคิดของ Digital Transformation หรือ “DX” นั่นคือ การวางแผนในการทรานสฟอร์ม ด้วยแนวทาง Design Thinking คิดตั้งแต่โครงสร้างบริษัท เครื่องมือ รวมถึงแนวคิด หรือ Mind Set ของบุคคลในองค์กร ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจองค์กร รู้จักความต้องการ และทรัพยากร และสินทรัพย์ต่างๆ ขององค์กร รวมถึงความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี เพื่อปรับแนวคิด ก่อนที่จะไปมองหาโซลูชันที่เหมาะสมมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีอย่าง บล็อกเชน AI หรือเมตาเวิร์ส

ดังนั้น การทำ “DX” องค์กรจำเป็นต้องรู้จัก 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ รู้จักสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดขององค์กร ซึ่งเป็นคำถามที่ง่าย แต่อาจตอบยาก เพราะแต่ละยุคคำตอบจะไม่เหมือนกัน องค์กรมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน และรู้จักกลุ่มเป้าหมายขององค์กร เพื่อจะช่วยวางแผนในการนำสินทรัพย์มาสร้างรายได้ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาทำให้สามารถเชื่อมต่อกับลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญที่องค์กรควรพิจารณาว่าจะทำ “DX” หรือไม่? คือ สถานะการเงินขององค์กรควรต้องยังดีอยู่ไม่ติดลบ แต่ตระหนักว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะกระบวนการนี้ต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้น และไม่ใช่ก้อนเดียว อาจมากหรือน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการต่อยอด อาทิ การนำระบบเทคโนโลยี และการเรียนรู้มาพัฒนาให้มาช่วยองค์กรประหยัดและร่นระยะเวลาได้ส่วนหนึ่ง

แม้วันนี้ทุกคนจะรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลง แต่ภาพรวมความสำเร็จการ “Digital Transformation” ในประเทศไทยถือว่ามีน้อยมาก โดยข้อจำกัดสำคัญคือ Mindset ของผู้บริหารและทีมงาน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงใน 2 เรื่องหลัก อันดับแรกคือ เรื่องกลัวการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะองค์กรที่ดีอยู่แล้วมักจะไม่กล้าเปลี่ยน แต่ตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทุกธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้ทัน อันดับสอง เรื่องการไม่เข้าใจในความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเจเนอเรชันอัลฟา ที่กำลังเติบโตเป็นลูกค้าคนสำคัญในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีพื้นฐาน

ในขณะที่ปัจจัยความสำเร็จของการ “Digital transformation” คือ ต้องรู้ตัวเอง กล้าเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นยุคที่ต้องทำงานแบบ Agile หรือกระบวนการทำไปคิดไป เพื่อช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นและตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ดังนั้น จึงต้องกล้าเปลี่ยน และกล้าลองแม้ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันรู้เลยว่าเปลี่ยนแล้วมีผลอย่างไร ซึ่งองค์กรที่จะสามารถทนต่อแรงกระแทก ไม่ใช่แค่จากเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอื่น ๆ ได้นั้น ต้องพร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การทำ DX ของบริษัท เจ เวนเจอร์ส ได้ทรานสฟอร์มให้ เจมาร์ท กรุ๊ป ถือเป็นตัวอย่างของทำ Digital Transformation ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยองค์กรที่กล้าเปลี่ยนแปลง สะท้อนจากการปรับตัวทางธุรกิจที่มีการนำเรื่องการทำงานร่วมกัน (Synergy) และการที่เริ่มต้นทำ Business transformation ตั้งแต่ปี 2015 ก่อนจะเข้าสู่ยุค “Digital Disruption” เสียอีก อีกปัจจัย คือ มีการปรับปลี่ยน Mindset ของทีม จนถึงวัฒนธรรมองค์กร แตกต่างจากองค์กรที่ไม่เคยปรับตัวมาก่อน ทำให้การทรานสฟอร์มด้วยเทคโนโลยีนั้นทำได้ยากกว่า

ผสมผสานกับการที่ เจ เวนเจอร์ส นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสร้างสรรค์ และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากขึ้น รวมถึงการได้ผนึกกำลังกับ TIS Intec Group จากประเทศญี่ปุ่น ที่ทาง TIS ได้นำเทคโนโลยี และ Use Case ต่างๆ มาช่วยเสริมการทำ DX บน Business transformation ที่วางเอาไว้แต่ต้น อีกปัจจัยที่สำคัญมากในการทำให้เจมาร์ท กรุ๊ป สามารถ “Digital transformation” ได้สำเร็จ นั่นคือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ผลักดันสู่ทีมงาน ทำให้พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลง แม้อาจจะถูกต่อต้านในช่วงแรก

หลายองค์กรอาจจะยังสับสนกับ “Digital transformation” นั่นเป็นเพราะแรงกระแทกจากเทคโนโลยีได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค 4.0 ไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังมีเรื่องความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชันเข้ามาเป็นตัวแปรที่สำคัญ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปแบบกลับหัวกลับหางจากยุค 3.0 โดยสิ้นเชิง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องตระหนักรู้ว่า การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจ แต่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

Share: